หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

งานทำบุญครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๑๐

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

วันจันทร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๓๐ น.

ณ วัดอรัญบรรพต ต.บ้านหม้อ

อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ อัตโถ

สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

 

ยังนึกอะไรไม่ออกเลย ตั้งใจฟังๆ จะพูดเรื่อง

 

กรรม วิชชา ธัมโม สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

 

ให้ฟังสักเล็กน้อย เพราะเราอยู่ด้วยวิบากของกรรม ถ้าเรามี กรรมดี ก็เรียกว่าได้รับผลดี เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้ากรรมไม่ดีหรือการงานไม่ดี ก็ทุลักทุเลไปยากลำบากเหมือนกัน ทำมาหากินก็ฝืดเคือง การงาน

 

กัมมัง

 

คือการงาน หน้าที่การงาน ถ้ามีทุจริตแทรกแซงเข้าไปอีก ก็ไปกันอีกอย่าง ล้มลุกคลุกคลานเหลือเกิน อาชีพการงานของเราฝืดเคือง เพราะว่าการงานของเราไม่บริสุทธิ์ ขาวสะอาด ถ้าการงานทุจริตแล้วก็ ล้มลุกคลุกคลานไปตลอดชาติ บางทีก็ไปไม่รอดเลย ถูกจับ ถูกปรับ ถูก(สิน)ไหม ถูกติดคุกติดตะราง ต่างๆ นานา ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ เพราะการกระทำของตัวเอง เนี่ย

วิชชา

 

การทำมาหากิน ถ้ามีวิชาดีพาตัวรอดได้ ไปได้ดี จะทำมาค้าขายอะไร ก็บริสุทธิ์ยุติธรรมดี จะทำราชการทุกแผนก ทุกกรม ทุกกอง ถ้าไปด้วยความทุจริต ก็มักจะล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน น่ะ แต่อยากดีกันทุกคนล่ะ ที่ทำก็อยากดีกันทุกคน แต่ถึงได้ลุอำนาจแก่ความอยากของตัวเองซะ ก็เลยล้มเหลวไปอย่างนี้ก็มี ค้าขายผิดศีลธรรมก็มี ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็มี แล้วก็ทำให้ฝืดเคือง ล้มเหลว มักจะหักเสียกลางคัน

 

ไม้สูงกว่าแม่ มันมักจะแพ้ลมบน

คนสูงกว่าคน มันมักจะหักเสียกลางคันนะ

 

เพิ่นนะ เขาว่าไว้เป็นคำกลอนของเขา ให้สังเกตดูมันจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ ชีวิตของคนล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อการงาน และหน้าที่ของตัวเอง อย่างจริงจังและก็จริงใจ ให้เป็นคนจริงจังและจริงใจเฮอะ ทำอะไรดีไปหมดทุกอย่าง ทำงานทำราชการ ก็เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทำการงานทางโลก ค้าขายทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็บริสุทธิ์สะอาดทุกอย่าง เพราะเป็นคนสบาย นั่งสบายนอนสบาย ไม่ต้องมาปวดสมองกันทีหลัง ถ้าหากทำงานไม่สะอาดมันปวดหัวนะ มันปวดหัวขึ้นมาที่หลัง และก็โรคเกิดขึ้นทางสมองบ้าง โรคเกิดขึ้นทางหัวใจบ้าง หลายๆ อย่างที่มา มะรุมมะตุ้มกับเรา ทำให้เรามีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้เราหมดกำลังใจ ที่ประพฤติปฏิบัติให้ได้เต็มที่

เพราะฉะนั้น พวกเราเอาหัวข้อธรรมะดังกล่าวมานี้ ไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนๆ เองเถิด ก็จะเลือกคัดจัดสรรหาการงานที่บริสุทธิ์สะอาดใส่ตัวเองได้ อย่างถูกต้อง ชีวิตก็ราบรื่น การงานก็ราบรื่น หน้าที่การงานทุกอย่างก็ก้าวหน้าไม่ถอยหลัง ไอ้คนถอยหลังอยู่ทุกวันนี้ก็มี จำพวกที่ทุจริต หากินที่ทางไม่สุจริต ทุจริตใส่ตัวเอง อ้าว ก็ทำให้ยุ่งสมอง ทุ่มเทอย่างหนัก เพราะว่า ทุ่มเทอย่างหนัก โทษตัวเอง ทำแล้วก็ติดตีนติดมือ เหมือนดัง

ลิงติดตัง

 

ลิงติดตังเอามือไปจับตัง แล้วก็เอามือไปเช็ด มือก็ติดกันอีก เอาออกไม่ได้อีก จะจับอะไรๆ ใส่ปากก็ลำบากอีก เนี่ย ลิงติดตัง ติดทุกอย่าง แต่ไม่ต้องว่าต่อไปอีกล่ะ

 

ติดตัง ติดหนังนารี เขาว่ามันติด

 

มันเป็นอย่างงั้น ถ้าติดในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องผูกมัดตัวเองไปในตัว ถ้าไม่ติดไม่ข้องอะไร ตรวจดูการงานนี้ สะอาดดีบริสุทธิ์ ยุติธรรม หมดจด ขาวสะอาด การงานใดๆ ก็ก้าวหน้า ชื่อเสียงก็โด่งดัง พาให้เจริญรุ่งเรืองในการงานหน้าที่ อาชีพก็เจริญทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พวกเราเอาธรรมะข้อนี้ไปคิดกัน

 

กรรม กัมมัง

 

คือการงานที่สะอาด เป็นการงานที่สะอาด กายก็สะอาด วาจาก็สะอาด ใจก็สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรมทุกอย่าง ก็เป็นที่สบายใจ โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดมีในหัวใจเรา ก็บรรเทาลงได้ง่ายๆ ไปหาหมอ หมอก็เจอจุด มันง่ายๆ ไม่พะรุงพะรัง ถ้าไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น อย่าสร้างปัญหาใส่ตัวเอง สร้างแต่คุณงามความดี

 

กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง

สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

 

ถึงความพินาศล่มจมไปก็เยอะแยะ เพราะไม่ไตร่ตรอง ขบคิดพินิจพิจารณาด้วยความเฉลียวฉลาดของตน เห็นแต่แก่ได้แก่เอา ทำนองนี้ ปัญหาของสังคมก็โดยมากมันก็อยู่ในขอบข่ายอย่างนี้แหละ สังคมคนไทยทุกวันนี้ก็มีปัญหา พูดไปเรื่องการบ้านการเมืองเราก็ไม่พูดล่ะ อ้า ก็ดูเอาเอง ใครมักมากโลภโมโทสันมากๆ ไปในทางหน้าที่การงาน ก็สร้างปัญหาใส่ตัวเอง ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิ ไม่มีคนสร้างให้หรอกตัวเองสร้างเอง ทำเอง คิดเอง ไปในทางที่ผิดๆ ก็ทำให้บ้านเมืองมีปัญหายุ่งเหยิงไปหมดด้วยกัน ที่จะกล่าวไปก็ไม่ดีอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ท่านก็เลือกคัดจัดสรรเอาแต่สิ่งที่ดีๆ มาปฏิบัติงานของตัวเอง ก็ไม่มีปัญหา เขาเรียกว่า

โนพลอมแพลม(no problem ไม่มีปัญหา)นะ

 

สบายมาก

 

โนพลอมแพลม(no problem ไม่มีปัญหา)

 

ไม่มีปัญหา เอาไปคิดเรื่องยุ่งยากมาใส่ตัวเองก็สร้างปัญหาขึ้น เออ พะรุงพะรัง อีรุงตุงนัง ห่วงหน้า ห่วงหลัง ห่วงทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เลยไม่สมหวัง สมความตั้งใจปรารถนา พังเสียกลางคันนั่นแน่ะ

 

ไม้สูงกว่าแม่ มันมักจะแพ้ลมบน

แต่คนสูงกว่าคน มันมักจะหักเสียกลางคัน

 

แน่ะ เขาว่าไว้ในเนื้อหาของเพลง ถ้าสูงกว่าคนเกินไป ข่มเหงคนอื่น รังแกคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น ด้วยความไม่เมตตาปรานีต่อกันและกัน มันหักเสียกลางคัน เพราะฉะนั้น พวกเราก็มีปัญญากันทุกคน ได้เล่าเรียนศึกษาสูงกันมาทั้งนั้น ก็ใช้ดุลยพินิจพิจารณาด้วยปรีชาอันชาญฉลาดของตนของตนๆ เองเถิด อัปปมาทธรรม ไม่มีความประมาท เลินเล่อเผลอสติ ก็มีแต่ความก้าวหน้าอย่างเดียว ไม่ถอยหลัง ก้าวหน้า ทำงานทำราชการก็ก้าวหน้า ทำการทำงานทางโลก ทางการค้าขายอื่นก็ก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง ดังที่แสดงมา ก็สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

เขาบอกยังไง เขาบอกให้เอาน้อยๆ

 

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑

 

 

กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

 

สัพพะปาปัง วินัสสันตุ อะเสสะโต

บาปทั้งปวง จงวินาศสิ้นไป โดยไม่เหลือ

 

 

ภาษิตโบราณ

ไม้สูงกว่าแม่ มักจะแพ้ลมบน

คนสูงกว่าคน มักจะหักกลางคัน

(คนที่อวดเก่งเกินกว่าคนอื่น ก็ต้องล้มลงจนได้)

 

ไม้ ใดอุบัติเบื้อง บรรพต

สูง แต่พอสมยศ เยี่ยงไม้

กว่า ไปกิ่งใบลด แหลกเพราะ ลมนา

เขา บ่ อาจบังได้ เพราะไม้สูงเกิน

แต่งโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

 

มักกฏสูตร

ว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร

(บทคัดย่อบางส่วน)

 

ขุนเขาหิมพานต์ เป็นที่เที่ยวของฝูงลิง

พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง

ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ย่อมหลีกออกห่าง

ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก เข้าไปใกล้ตัง

เอามือจับ มือก็ติดตัง เอามือข้างที่สองจับก็ติดตัง

เอาเท้าจับ เท้าก็ติดตัง เอาเท้าข้างที่สองจับก็ติดตัง

เอาปากกัด ปากก็ติดตัง ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการ

และนอนถอนใจ ถึงความพินาศ

พรานกระทำได้ตามความปรารถนา

เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป

ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ

 

ภิกษุทั้งหลาย อย่าเที่ยวไปในอารมณ์ อันมิใช่โคจร คือ

กามคุณ ๕

ภิกษุทั้งหลาย จงเที่ยวไปในอารมณ์ อันเป็นโคจร คือ

สติปัฏฐาน ๔

 

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มักกฏสูตร

ข้อ ๗๐๑ - ๗๐๓ บทคัดย่อบางส่วน)

๗๑