หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๓๐ น.
ณ วัดป่าญาณสิริ ต.กรอกสมบูรณ์
อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
ท่านเทศน์ ให้พรสักหน่อยเพิ่นเด้อ
พอแล้วๆๆๆๆ คอไม่ดีหรอก คอ แหบๆ แห้งๆ
(หลวงปู่ฉันน้ำชา)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอความนอบน้อมของเราท่านทั้งหลาย จงมีแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น
อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ อัตโถ
สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ
ถ้าจะให้เทศน์เรื่องอื่นเราก็ไม่มี ถ้าเทศน์เรื่องของคนน่ะพอได้อยู่ คนเรามีร่างกาย มีวาจา มีใจเป็นเจ้าของ ของร่างกายนี้ ถ้าเราไม่ชำระ ไม่ขัด ไม่เกลา ไม่ล้างให้มันสะอาด มันจะสกปรก
(พระเถระเข้ามาร่วมพิธี)
อ้า โอ้ ปะเห็นแต่เมื่อเช้านี้อ่ะ อ้า สาธุ เอ้ รู้จักว่าเมืองสุรินทร์ เพิ่นมา เราก็อาจจะเกี่ยวก็ได้เว้ย ปะเนี่ย เมื่อเช้าไปฉันข้าวที่บ้านเจ้าภาพทางโน้นน่ะ ฉันข้าวแล้วมีอายัดตัว ตอนเย็นนี้หลวงปู่ต้องไปเทศน์ ว่างั้นน่ะ หลวงปู่ต้องไปเทศน์ ปฎิเสธไม่ได้ อ้า ว๊าย ผูกมัดอย่างเด็ดขาดแท้
ถ้าพูดเรื่องของคนนี่พอจะพูดได้ เรื่องของคน เกิดมาในโลกนี้ มาสร้างเอาบุญก็มี มาสร้างเอาบาปก็มี พวกสร้างบาปทั้งหลายเขาก็ทำกันอยู่คึก พวกต้องการอยากไม่ ไม่มีบาปก็สร้างบุญ เออ ทำบุญทำกุศล ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา สร้างกุฏิ วิหารให้พระเจ้าพระสงฆ์ได้อยู่ได้อาศัย เหล่านี้มัน คนเราก็ทำเอง อยู่ๆ มันก็จะแล่นมาทางเราเองได้ไหม ต้องทำเองซะก่อน
กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง
สัพพะปาปัง วินัสสันตุ อะเสสะโต
ทำยังไง บาปกรรมทั้งหลายจึงจะหมดจากเรา หรือเช่นนั้น ให้ถึงซึ่งความสิ้นไปอาสวกิเลสซะ ขอเอาเหรอ ไม่ใช่อย่างงั้น เหมือนดังคนอาบน้ำ ชำระเหงื่อไคล สิ่งสกปรกโรคร้าย อยู่ในร่างกายเรานี้มีเยอะแยะ ความโลภก็มี
โทสัคคินา เพิ่นบอกว่าเป็นไฟ
โมหัคคินา ความหลงก็เป็นไฟอีก เผาเราอยู่
ราคัคคินา ราคะทั้งหลายเผาผลาญเราอยู่
ตลอดเวลา นอนหลับไปยังฝันไปอยู่ ฝันไป ไปทำบาป ไปทำบาป ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปลักฉกจกฉ้อผู้อื่นเอา ยังนำเอามาฝัน เพราะว่าเราเลิกแล้ว เราละแล้ว อย่ามารบกวนเราเลย
ราคะ เพิ่นว่าเป็นของร้อน ราคัคคินา
ความโกรธก็เป็นของร้อน เพิ่นว่า โทสัคคินา
ความหลงก็เป็นของร้อนอีก โมหัคคินา
เป็นของร้อน เผาผลาญตัวเองให้ย่อยยับไปตั้งแต่ยังไม่ตาย เอาหามันไหม้ตัวเองอยู่อย่างงั้น กลุ้มรุมหัวใจอยู่งั้นล่ะ เพราะฉะนั้น ทางศาสนาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านจึงเป็นห่วงเป็นใย จึงได้ว่ากันอยู่บ่อยๆ มีบทบัญญัติไว้ให้ สวดมนต์ ไหว้พระ แผ่เมตตา ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย เนี่ยวิธีแก้ไข ทางอื่นเรายังแก้ไขได้ เช่นความร้อน มันเกิดเหงื่อไหลโทรมตัว ทำให้แปดเปื้อน เลอะเทอะ เปรอะเปื้อนไปหมดทุกอย่าง ถ้าเหงื่อออกเยอะๆ ละก็เปื้อนตัวเอง วิธีแก้ ให้มันเปื้อนทำไง เปื้อนตลอดเครื่องใช้ไม้สอย เสื้อผ้าอาภรณ์ ถ้วยชามนามมาละ เออ ของใช้ประจำวัน ก็ต้องล้างทุกวัน ต้องเช็ดถูทุกวัน ทำความสะอาดทุกวัน มันจึงเป็นน่าใช้ มันจึงเป็นน่านั่ง น่าอาศัย ทำความสะอาดมันให้ทุกวันๆ
อันนี้กล่าวใกล้ๆ ไม่ต้องไกลไป ย้อนมาหาตัวเองทุกคน ทุกคนย้อนมาหาตัวเอง ทำยังไงราคะ โทสะ โมหะ จะหมดไปจากเรา กิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลงทั้งหลาย จะเบาบางไปจากเรา ทำยังไง นี่ความประสงค์ของทางศาสนา ต้องการอยากให้ชำระ ให้ขัด ให้เกลา ให้ทำความสะอาดของเหล่านี้ ถ้าไม่ทำบ่อยๆ มันก็เกิดแทรกๆ ขึ้นมา ความสกปรกทั้งหลาย กาย วาจา ใจ มันสกปรกได้ มันออกมาทุกวัน สิ่งที่เพิ่น ที่พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เพิ่นสอน เพิ่นก็สอนให้ทำความสะอาด กาย วาจา ใจ เท่านี้สิ่งที่จะทำ กิจธุระที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้น จำเป็นที่สุด ทุกคนจะต้องชำระ ขัดเกลา ล้างจิต ล้างใจของตัวเอง ด้วยธรรมะ ด้วยภาวนา ทาน ศีล ภาวนา เหล่านี้เป็นเครื่องชำระ เป็นเครื่องล้าง เป็นเครื่องขัดเกลา ให้ถึงความสะอาดหมดจด ทางกายของเราสะอาด วาจาของเราสะอาด จิตใจของเราสะอาดแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพราะมันสะอาดอยู่แล้ว ศีลเราก็ได้รักษาอยู่ ทานเราก็บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ
ทานบารมี ศีลบารมี
ภาวนา ก็เป็นบารมีเหมือนกัน
เนกขัมมบารมี
ทำให้จิตใจสงบระงับจากอารมณ์ทั้งหลาย ให้มันเบา มันบางไป ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ขัด ไม่เกลา ไม่ล้าง ไม่ซัก ไม่ฟอกมัน มันจะสะอาดเองหรือเปล่า กาย วาจา ใจน่ะ มันจะสะอาดขึ้นมาเองหรือเปล่า โอ้ เป็นของยากแท้ เพราะมันสะสมและก็หมักหมมมานาน สะสมหมักหมมมานานแล้ว
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ราคะ โทสะ โมหะ
มันมีประจำตั้งแต่เกิดมา ตัวน้อยๆ ก็ยังใช้ออกมาไปทางที่ไม่ดี มีใครบอกใครสอนเขาหรือเปล่า บอกไปในตัวล่ะ มันบอกกันไปในตัว เอิ้น(เรียก)หาห่า หาผี ห่ากินหัวมึงเอย ผีกินหัวมึงเอย ต้มตับ ต้มไต ต้มไส้ ต้มพุง ไม่มีใครสอน แต่มันๆ เกิดขึ้นมาในสันดานของมันเอง เออ ทำให้สกปรก ทำให้กาย วาจา ใจสกปรก ด้วยโลภ โกรธ หลง ด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ มันเกิดขึ้นมาได้ จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็มี มีครอบมีครัวแล้วก็แตกแยกกันไป ทิ้งกันไป เพราะอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันฝัดกัน มันกัดกันขึ้นมา
ความโกรธ ความโลภ ความหลง
ราคะ โทสะ โมหะ
มันเกิดจากใจ แต่มันสามารถกินใจเราให้หมดคุณภาพ เนี่ยความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเกิดจากใจน่ะ แต่ว่าสามารถกินใจให้หมดคุณภาพที่ดี ไปจากตัวของเราเอง ความสกปรกของกาย วาจา ใจน่ะ มันก็มีอยู่ในตัวของเรา เราจะเอา มันไว้จนมันตายจากกันเลยเหรอ มันจะเบาเองหรือเปล่า มันจะสะอาดเองหรือเปล่า ต้องซัก ต้องฟอกมันซะก่อน
เหมือนดังเสื้อผ้าอาภรณ์ที่เราใส่อยู่ประจำ ทุกชุด ทุกอย่างที่เราใช้สอยมัน ตั้งแต่ถ้วยแต่จาน ถ้วยชามนามมาละ ภาชนะน้ำ ภาชนะอาหาร เหล่านี้ก็ทำความสะอาดทุกวัน ใช้ทุกวัน ทำความสะอาดทุกวัน หม้อ ไห โอ่งน้ำ หรืออะไรเหล่านี้เพื่อต้องทำความสะอาดอยู่เรื่อยๆ มันจึงเป็นน่าใช้ น่าใส่อาหาร น่าใส่น้ำใช้และน้ำดื่ม ต้องทำความสะอาดไว้เสมอๆ เออ อันนี่ข้อเปรียบเทียบเฉยๆ หรอก เปรียบเทียบถ้าไม่ทำความสะอาด มันจะน่าใช้หรือเปล่า มันจะน่าขยะแขยงหรือเปล่า ถ้วยจาน ถ้วยชาม ภาชนะอาหาร ภาชนะน้ำก็ดี ถ้าเราไม่ทำความสะอาดให้เรียบร้อย หลายวันมันก็เกิดเกรอะกรังขึ้นมา อ้า ความสกปรกมันก็เกิดขึ้นมาเองของมัน มันไปติดอะไรก็แปดเปื้อนไปหมด อย่างที่เรากินหมาก กินหมากก็ต้องบ้วนใส่กระโถนอีกแหละ ถ้ากระโถนไม่ล้าง ไม่ทำความสะอาด จะน่าใช้อีกต่อไปหรือเปล่า โอ้ย ต้องล้างต้องเช็ด ต้องถู ถ้วยชาม ภาชนะอาหารทุกชนิด ก็ต้องทำความสะอาดไว้เสมอ
แม้ฉันใด กาย วาจา ใจของเรา ถ้าไม่รักษาให้มันสะอาด มันจะเกิดเป็นบุญเป็นกุศลหรือเปล่า
คำว่าบุญ บุญนี้บ่มีไผ(ใคร)ปันแจกแหล่ว
บ่มีแยกออกได้ คือไม้ผ่ากลางแล้ว
คือดั่งเฮา(เรา)กินข้าว ไผ(ใคร)กิน ไผ(ใคร)ก็อิ่ม
บ่ห่อนไปอิ่มท้องเขาพู้น(โน้น)ผู้บ่กิน แน่ะ
(เรื่องบุญบารมี เป็นสิ่งที่ทำแทนกันไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้อง
ทำเอาเอง เปรียบว่า การกินข้าวคนไหนกินคนนั้นก็อิ่ม
มันไม่สามารถไปอิ่มท้องของคนที่ไม่ได้กิน)
เหมือนกันนั่นแหละ กิเลสของเราจะอยู่เฉยๆ ให้มันเหือดมันแห้งไป ให้มันหายไปเองมัน มันแหลกเท่านั้นแหละ ไม่ ไม่สะอาดขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยการดูแล ขยันมั่นเพียรในการทำความสะอาด กับถ้วยชามก็ดี ภาชนะน้ำทุกชนิดก็ดี
ภาชนะอาหารทุกอย่าง ก่อนจะทำ ก็จะต้องหาความสะอาดซะก่อน ทำลงไปสุกแล้ว เรียบร้อยแล้ว จึงน่ากิน จึงน่าใช้ ถ้าไม่ทำความสะอาด มันก็อาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาได้ เราไม่เห็นหรอกโรคที่มันอยู่ในถ้วยในชามที่สกปรกน่ะ เราไม่เห็นหรอกถ้ามันชินมันเคยแล้วมันก็อยู่ได้ ไม่ชินไม่เคยกับความสกปรก เคยชินเคยใช้แต่ของสะอาดๆ เสื้อผ้าอาภรณ์ก็เหมือนกัน ใช้แต่ของสะอาดๆ ไปเข้าสังคมกับหมู่ ถ้าเสื้อผ้าไม่ได้ซัก มันเป็นยังไง ตงิดๆ หรือเปล่า โอ้ย ไม่สบายใจ เพราะว่าไม่ได้ซักเสื้อซักผ้า คนอื่นมานั่งใกล้ คงจะได้กลิ่นจากตัวของเราเอง แอ้ มันเป็นยังไง ตะขิดตะขวงใจหรือเปล่า
อันนี้เปรียบภายนอก เข้ามาภายในใจเรา ในใจเราก็มีการขัด การเกลา การทำความสะอาดเหมือนกัน ต้องทำบุญให้ทาน รักษาศีล สมาทานศีลกัน ถ้าทำพิธีอะไร เมื่อไหร่ก็ต้องว่ากันซะก่อน มื้อเช้าก็ว่าแล้ว มื้อแลง(เย็น)ก็ว่าอีก อยู่อย่างงั้ันแหละ ทำความสะอาดกาย วาจา ใจของตัวอยู่งั้นแหละ ให้จนมันหมดจนสิ้นสงสัย สิ้นสงสัย ไม่ต้องได้ทำความสะอาดอีก มันสะอาดเองของมัน อล่องฉ่องเอง สะอาด ใจสงบ และจะเห็นความสะอาดใจล่ะปะเนี่ย ถ้าใจสงบลงไปเป็นหนึ่งได้ จะเห็นความสะอาดหมดจดของจิตใจหรอก ถ้าเป็นความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น รกรุงรัง ก็ทำให้ไม่สบาย หงุดหงิดๆ ไม่สบายจริงๆ แหละ โอ้ เพราะเราไม่ได้ซักเสื้อซักผ้าให้สะอาด ถ้วยชามที่ใช้สอยอยู่ ถ้าเราไม่ทำความสะอาดเอาไว้ มันจะน่าใช้หรือเปล่า เออ
แม้ฉันใด ที่กล่าวมานี้ก็ต้องการให้หวนระลึกถึงตัวเอง ตัวเองของเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือเปล่า มีราคะ โทสะ โมหะหรือเปล่า ถ้ามันมีอยู่มันจะสะอาดได้ยังไง มันต้องขัดเกลา ทำความสะอาดไว้เสมอ ก่อนจะนำมาใช้ ให้มันสะอาดเอาไว้ ก่อนจะนำมารับแขก ต้อนรับแขกเหรื่อทั้งหลาย ต้องให้ของนั้นสะอาดหมดจด ภาชนะน้ำก็ดี ภาชนะอาหารก็ดี เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ดี ที่เราใส่ประจำทุกวัน แล้วก็เหงื่อออกทุกวัน เหงื่อออกไคลออก ฝุ่นละอองมันก็ติดด้วย เกิดความสกปรกได้ เห็นกับตาพวกเราเอง ใครๆ ก็เห็น ถ้าไม่ได้ทำความสะอาดแล้วก็ไปนั่งปะปนหมู่ผู้คนสะอาดแล้ว เราก็ตะขิดตะขวงใจอยู่อย่างงั้นน่ะ เออ ไม่สบาย หงุดหงิดๆ แล้วก็คันตรงนั้น คันตรงนี้ขึ้นมา มันมีเชื้อราหรืออะไรก็ไม่รู้ มันเกิดขึ้นมาเองมัน ดังนี้ เปรียบเทียบอย่างนี้ให้รู้จักว่า
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก
ความชัง ความยินร้าย ความยินดี ความดีใจ
เสียใจ ร้องไห้ หัวเราะ เหล่านี้
ก็เป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจหมดความสำคัญ นี่แหละมันอยู่ด้วยกันดีๆ ก็แตกกันเพราะมัน กาย วาจา ยังไม่ได้ชำระ เอามาใช้อยู่เสมอ ไม่มีใครสอน แต่มันน่ะ ทำไมไปหยิบออกมาใช้ ไม่มีใครสอน ความโลภก็ไม่มีใครสอน ความโกรธก็ไม่มีใครสอน
ความหลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงยินดี
เหล่านั้นก็ไม่มีใครสอน มันเป็นเองของมันโดยอัตโนมัติ เออ จะเอาอย่างงั้นเหรอ ถ้าเอาอย่างงั้นก็มันเหนื่อยนะ ครูบาอาจารย์ก็เหนื่อยเป็น จะเอามาพูดให้ฟังบ่อยๆ ก็จะเบื่อซะก่อนเพราะฉะนั้น ในวันนี้เรามาทำความสะอาดกาย ทำความสะอาดวาจา ทำความสะอาดใจ ให้มันถึงความหมดจด ปล่อยมันทิ้งซะ อะไรมันรกรุงรัง ทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ปล่อยมันทิ้งซะ อย่ายึดเอามาคิด อย่ายึดเอามาพูด ไม่ต้องเอามาพูดกันของอย่างนี้ ของเป็นอัปมงคล ไม่เป็นมงคล อย่างว่า ห่ากินหัวมึงเอย ผีต้มตับ ต้มไตมึงเอย เหล่านี้ใครสอนล่ะ ใครเป็นคนสอนหรือเปล่า มันเกิดกับสันดานตัวเองมั้ง อ้า แล้วก็กลายเป็นนิสัยขึ้นมาปะเนี่ย นิสัยขี้ดุ ขี้ด่า ขี้บ่น จุกจิก จู้จี้ มันเป็นขี้ขึ้นมา ไม่ใช่ของดีหรอก มันน่าเบื่อเหลือเกิน ขี้บ่น ขี้ว่า ขี้จก มีแต่ขี้ทั้งนั้นเพิ่นว่า หลวงปู่ธรรมเจดีย์(หลวงปู่จูม พันธุโล) ท่านพูดเรื่องขี้ ในตัวของเรามีแต่ขี้ทั้งนั้นเว้ย มันจะอยู่ในลำไส้นะ ออกมาทางเหงื่อก็เป็นขี้เหงื่อซะ ถ้ามันจับฝุ่นละอองมากๆ ขึ้นก็เป็นขี้ไคลขึ้นมาล่ะ สีแต่ละทีละข้างก็ออกมา เหงื่อไหลออกมา อาบน้ำทุกวัน ขัดสีทุกวัน ก็ยังเกิดความสกปรกได้
อันนี้จิตใจของเราถ้าเราไม่ขัด ไม่เกลา ไม่ชำระมันอยู่บ่อยๆ มันจะถึงความสะอาดหรือเปล่า ถึงความสะอาดเป็นของหมดจดได้หรือเปล่า มันต้องเอากับมัน ผู้ต้องการมีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ต้องเอากับมัน อ้า อย่าให้มันมารบกวนเราอีกเป็นอันขาด เมื่อไปพูดในสังคมสมาคมใดก็ดี อย่าให้มันออกไปรบกวนหูผู้อื่น ให้ได้รับแต่รสเย็นๆ เย็นหู กริยาท่าทางก็เย็นตา ถ้าหากว่าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เย็นตา มองเห็นหน้ากันแล้วก็ชื่นใจ เย็นตา ในที่สุดก็เย็นใจด้วย ใจเย็นด้วย นั่งสมาธิภาวนามันก็สงบ เพราะกาย วาจา ใจ มันสะอาดแล้ว ไม่มีโทษมลทินอะไรเกิดขึ้น เพราะกายของเรา วาจาของเรา ใจของเรา อืม มันต้องรักษาให้มันสะอาดหมดจด อยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นการขัดเกลากิเลสตัวเองภายในตัว กิเลสก็คือตัวของเรานี้แหละ ความโลภก็เกิดขึ้นที่นี้แหละ ความโกรธก็เกิดขึ้นที่นี้แหละ ราคะก็เกิดขึ้นที่นี้แหละ โทสะก็เกิดขึ้นที่นี้แหละ ถ้าเราไม่ชำระ ไม่ทำ ไม่ขัด ไม่เกลามัน ให้สะอาดหมดจดไว้เสมอแล้ว มันจะเป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเอง ไม่สบายเลย ถ้าไปลุอำนาจแก่
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าไปลุอำนาจแก่มัน มันยิ่งได้กำลังใหญ่ โอ้ย เอาใหญ่แล้ว สามีภรรยาสุดที่จะรักกันขนาดไหนก็ตาม แต่มันเกิดขึ้นที่กาย วาจา ใจของตัวเองแล้ว ก็ทำให้แตกร้าวกันได้เลยน่ะ
(หลวงปู่ฉันน้ำชา)
มีเงินมีทองก็ต้องการอยากจะสร้างหลักสร้างฐานของตัวเอง ให้มันมั่นคงถาวร สร้างศีลสร้างธรรมให้เกิดขึ้นในตัวเอง ขัดเกลาจิตใจตัวเองให้มันหมดจดสะอาดไว้เสมอ นั่งอยู่ก็มีความสุขใจ นอนอยู่ก็ยังมีความสุขใจ ยืนเดินนั่งนอนมีความสุขตลอด ไม่มีความเดือดร้อนใดๆ เลย เพราะเรารักษากาย วาจา ใจของเราให้อยู่ในความสงบเรื่อยๆ ทุกวี่ทุกวัน เป็นอย่างนี้ครูบาอาจารย์เพิ่นสอนน่ะ เพิ่นสอนอย่างงี้แหละ หลวงปู่อะไรก็แล้วแต่ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) เป็นต้นมรดกกรรมฐาน เพิ่นเอายังไง เพิ่นก็เอาอย่างงี้แหละ สู้กับมันอย่างงี้แหละ
สู้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง
ราคะ โทสะ โมหะ
มันเกิดขึ้นที่ใจ แต่มันกินใจให้หมดไป หมดคุณภาพของใจดีๆ เหล็กแท้ๆ ถ้าปล่อยให้สนิมมันกิน มันกินหมด มันกินเหล็กขาดเป็นท่อนๆ ไปแหละ อย่างว่า มีดก็ดี ขวานก็ดี เกี่ยว เคียวหรืออะไรเกี่ยวข้าวอยู่ ถ้ามันไปตกฝังดินอยู่นานๆ แล้ว มันเป็นยังไง มันเกิดสนิมกินมัน มีดขวานก็เหมือนกัน ถ้าตกอยู่ในดิน ไปถูกเผ็ดถูกเค็มเข้าหน่อยเดียว ไม่ได้ทำความสะอาด มันกัดกินเหล็กได้ จึงได้พูดให้ญาติโยมลูกศิษย์ทั้งหลายได้ฟัง
สนิมมันกินเหล็ก กิเลสมันกินใจ
อ่ะเนาะ(นะ) สนิมมันกินเหล็ก เป็นโลหะทั้งหลายต่างๆ มันกินหมด ถ้าไปฝังอยู่ในดินอยู่ในดอนเข้านานๆ ถูกของเปรี้ยว ของเค็มเข้าบ้าง ไปถูกดินเข้ามา ก็เกิดขี้สนิมจับ อ่ะ เกรอะกรังไปหมด อย่างนี้จะอยู่ได้กี่ปี สนิมนี่กินแล้วมันอยู่ได้กี่ปี มีคุณภาพที่ดี น่าใช้น่าสอย ไม่น่าใช้แล้วถ้าเกิดขี้สนิมขึ้นมาแล้ว ไปทำงาน อะไรๆ ก็ไม่สะอาด เอามีดขี้สนิมกิน จอบที่ขี้สนิมกิน เสียมขี้สนิมกิน เคียวที่เกี่ยวข้าวอยู่ ปล่อยให้มันเกิดขี้สนิมขึ้นมา มันจะใช้งานได้หรือเปล่า เออ เหมือนกันแหละ ต้องชำระมัน ทุกอย่าง ต้องชำระมันไว้ ขัดเกลามันไว้ เคยบอกลูกศิษย์ว่า
สนิมมันกินเหล็ก แต่กิเลสมันกินใจเว้ย
สนิมมันกินเหล็กหมดไปเลย ถ้าปล่อยให้มันกินอยู่ มันก็กินจนหมดแหละ ต้องมาทำสะอาดขัดเกลาให้สุกใหม่ อย่างให้ดีๆ อล่องฉ่อง ไม่มีขี้สนิมเกิด รักษา ทาน้ำมันไว้อย่างดี มีดหอกดาบ ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นของใช้เหล่านั้น ถ้าไม่ทำความสะอาดไว้ มันหมดไปหลายกี่ชุดแล้ว รวมทั้งเคียวเกี่ยวข้าวมา หมดไปกี่เล่มแล้วโว้ย กี่ดวงแล้วโว้ย ไอ้พวกมีดขวานก็ดี เหล็กหลาก็ดี มันหมดไปแล้ว ถ้ามันไปฝังอยู่ในดินแล้ว นานๆ ยังไปเจอเข้า เหลือน้อยเดียว โผล่มาก็เหลือน้อยเดียว ไม่มี ไม่น่าใช้เลย ต้องสะอาดแล้วหมดจดไว้เสมอ ทำความสะอาดไว้เสมอ
มีดขวานก็เหมือนกัน ต้องฝนด้วยหินหรือว่ากระดาษทรายขัดให้ดีๆ แล้วก็ทาน้ำมันไว้ซะ ทาน้ำมันกันสนิมไว้ซะ อย่าให้มันมาพอกอีก ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ดีขึ้นมาหน่อย เอามาทำอาหารการกินก็ดี มาทำงานบางสิ่งบางอย่างก็ดี สำเร็จ สำเร็จสมเป้าปรารถนา ของใช้ของสอยก็ดี สมเป้าสมความต้องการ ให้มันเลี่ยมอยู่เสมอ ให้มันคมอยู่เสมออย่างงั้นแหละ นี่ใจของเราให้มันเป็นอย่างงั้น ให้มันคมอยู่อย่างงั้น
พระไตรสรณคมน์
ของพวกเราก็ให้มันหมดจด
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
นี้ก็ว่าอยู่เรื่อยๆ อย่าให้มันขาดได้ อยู่กับพระพุทธ อยู่กับพระธรรม อยู่กับพระสงฆ์ บริกรรมอยู่อย่างงั้น ครูบาอาจารย์บางแห่ง คิดเฉยๆ เพิ่นก็รู้ รู้แล้วเพิ่นก็ห้าม ไม่ให้ปรุงแต่งไปทางนั้น ราคะ โทสะ โมหะ อย่าให้มันเข้ามาใกล้ได้ ถ้ามันเข้ามาใกล้ มันจะมากินใจเรา ทำให้ใจเราหมดคุณภาพ หมดประสิทธิภาพ ใช้งานไม่ได้เลย อ้า
เพิ่นก็บอกไว้เป็นอย่างๆ อยู่หรอก คนเกียจคร้านน่ะใช้การไม่ได้เลย คนไม่ขยันขันแข็ง ไม่ดูแลรักษาความสะอาด เออ กินหลายเพิ่นก็ให้เลี้ยงไว้ เออ ขี้คร้านนักก็เลี้ยงไว้ เออ ไอ้คนเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นนะ ใช้การไม่ได้เลย ใช้การใช้งานไม่ได้เลย เสียหมด อ้า แม้เป็นนักบวชก็เหมือนกัน นักบวชเป็นคนมักง่าย ขี้เกียจขี้คร้าน เพิ่นก็สอนให้ขยันมั่นเพียร ทำความพากความเพียร แม้แต่ลานวัด มันก็สะอาดอล่องฉ่องได้ เพราะเพิ่นเป็นคนขยัน ขยันปัด ขยันกวาด ขยันทำความสะอาดไว้ ไม่ให้มันมีขยะมูลฝอยอะไรมากมาย เข้าไปในวัด ก็รู้จักกับท่านดีว่า โอ้ วัดนี้เพิ่นสะอาดเว้ย สะอาด เพิ่นมีข้อวัตรกันทุกวัน ปัดกวาดทุกวัน ศาลาลงมันไว้อย่างงี้ดีๆ แล้ว ถ้าไม่ปัด ไม่กวาด ไม่เช็ด ไม่ถูจะน่านั่งหรือเปล่า มันจะเกิดอะไรขึ้นมา เกิดฝุ่นผงละออง เกิดมาทับถมเข้า ความสะอาดหายไปไม่รู้ปะเนี่ย มันหายหนีไปแล้ว มันอยู่ที่เราขัด เราเกลา เราทำความสะอาดมันอยู่เสมอ มันจึงน่านั่ง น่าใช้สอย น่ารับแขก เออ ถ้าบ้านรกรุงรัง แขกมาจึงค่อยไปปัดไปกวาด มันก็เป็นฝุ่นละอองพุ่งขึ้นมา ควันพุ่งขึ้นมา เพราะมันไม่ได้ปัด ไม่ได้กวาดมาหลายวันแล้ว ถ้าแขกมาจึงค่อยไปทำความสะอาด โอ้ อันนั้นเรียกว่าขายหน้า เขาว่าแก้ผ้าเอาหน้ารอดหรือเปล่า นี่เป็นน่ะรู้ไหม แก้ผ้าเอาหน้ารอด ไม่น่าดู ต้องทำให้ทุกวันๆ ทำข้อวัตรใดๆ ก็ดี ปัดกวาดเช็ดถูนี่ทำทุกวันๆ ไม่ให้มันรกรุงรังขึ้นมาได้ พวกผง พวกขยะอะไรๆ ละอองทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราเป็นคนขยันดี บ้านของเราก็สะอาด ที่อยู่ที่อาศัยก็สะอาด พูดไปถึงเครื่องใช้เครื่องสอยภายในตัวเอง เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องนุ่งของถือ เครื่องห่มก็น่าใช้ เพราะว่าทำความสะอาดไว้เสมอ ถ้ามันติดเหงื่อติดไคลเข้าแล้วก็ เป็นสิ่งที่ขยะแขยงแล้ว พูดก็วกวนเข้ามาหาถ้วยชามจานอีกเหมือนกัน ถ้าล้างไว้ให้สะอาดหมดจดแล้วเอามารับแขก ก็ไม่น่าขายหน้า เออ ถ้าเอาของสกปรกออกมา ถ้วยชาม ภาชนะน้ำ ภาชนะอาหาร ถ้าเวลาจะใช้จึงจะเอามาใช้เลยอย่างเนี่ยเป็นยังไง อืม ขยะแขยงไหม เป็นของที่ไม่น่าดูด้วย เป็นของที่คนอื่นรังเกียจ อ้า ตัวเองหยิบมาใช้เวลาไหน ก็แสลงใจเวลานั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง เอาละไม่พูดมาก บัดนี้
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
เพิ่นว่าอย่างนี้ ทางศาสนาเพิ่นก็ต้องการให้เป็นอย่างงั้น เพิ่นสั่งเพิ่นสอนลูกศิษย์มา ให้ทำความสะอาดกาย วาจา ใจ ให้หมดจด ที่อยู่ที่อาศัย อย่าให้มันรกรุงรังได้ ให้สะอาดหมดจด อยู่อย่างงั้น ห้องพระห้องอะไรก็เหมือนกัน เออ ตั้งแต่ตั้งวัดมา ไม่เคยปัด เคยกวาด เคยขัด ทำความสะอาดให้เลย เวลามีการมีงาน จึงค่อยพากันมาลงแรงกัน มาทำความสะอาด อันนั้นก็ไม่เข้าท่า
ต้องทำทุกวัน ต้องทำทุกวัน
กิจวัตรประจำวัน
ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นก็ดี อ้า สวดมนต์ไหว้พระก็ดี ต้องทำทุกวัน ระลึกทุกวันด้วย ระลึกในสิ่งที่จะต้องขจัดขัดเกลาให้มันสกปรกออกจากวัตถุเหล่านั้น ให้มันหมดไป เสื้อผ้าอาภรณ์ถ้าไม่ได้ซัก จีวร สบง หรือ อะไรไม่ได้ซัก ไม่ได้ทำความสะอาด เอามานุ่งเวลาไหนไม่สบายใจเวลานั้น ต้องซัก ต้องย้อมให้มันอล่องฉ่องไว้อยู่อย่างงั้น สะอาดอยู่อย่างงั้น ห่มไปไหนมาไหนก็สบายใจ นั่งใกล้ใครเขาก็ไม่ ไม่รังเกียจ ขยะแขยง ถ้าน้ำไม่อาบ เสื้อผ้าอาภรณ์ไม่ได้ซัก ตัวของเราเองน่ะไม่สบาย ตัวเจ้าของผ้า เจ้าของเครื่องใช้ไม้สอยเหล่านั้นขยะแขยงตัวเอง เพราะไม่ได้ทำความสะอาด
อันนี้บอกให้รู้เอาไว้ รู้เอาไว้ เตรียมตัวให้พร้อมไว้ เออ นี่อย่างว่าศาลาหลังนี้ มันจะเป็นอย่างงี้ได้ ก็เพราะพวกที่อยู่ที่อาศัยนั่นเป็นคนขยันหมั่นเพียร มีปัด มีกวาด มีเช็ด มีถู ให้อล่องฉ่องไว้เสมอ แขกไปใครมาก็ไม่น่าอายเขา เออ โอ้ วัดเพิ่นสะอาดหนอ เสนาสนะเพิ่นสะอาดหนอ เสื้อผ้าเพิ่นก็สะอาด อ้า นั่น มันเป็นของดีขึ้นมา มันก็ดีแล้ว เพราะว่าเราทำจนเป็นนิสัย ติดอยู่ในจิตสันดานของเรา เพิ่นมีความยินดีในการทำความสะอาดทุกอย่าง เออ ตั้งแต่จิตใจของเรามันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความอิจฉา ริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร จองกรรม ซึ่งกันและกัน อย่าเอามาใช้ ไม่มีมนุษย์ไหนต้องการหรอก เราเอาไปใช้กับคนอื่นเขาก็ไม่พอใจ ตัวของเราเกิดพลาดพลั้งไปก็ยังเสียใจ ได้ด่าได้ว่าลูกศิษย์เสียๆ หายๆ เออ ลูกศิษย์นั้นก็เลยหม่นใจหมองใจ ไม่ต้องเอามาใช้ในสังคม สิ่งใดที่เป็นอวมงคลอย่าเอามาใช้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าเอามาใช้ อ้า ให้สังคมรังเกียจ อ้า
พูดไปมันก็กระทบกระเทือนเขานั้นอีกน่ะ เห็นเขาเดินขบวนกันอยู่ในกรุงเทพฯ จนรถติดไปไม่ได้เลย เออ แล้วเขาเดินไปหาอะไร เขาเดินทำไม เขาเดินไปหาอะไร ปิดจราจรเขา หาของเจริญมาใส่บ้านเมืองหรือเปล่า หรือหาความขัดข้องมาใส่บ้านใส่เมือง แหม แค่นี้ก็รู้ได้ว่า โอ้ ไม่ดีจริงๆ เว้ย เอาไปใช้ในสังคมไม่ดีจริงๆ แหละ แน่ะ เพราะฉะนั้น เราต้องพร้อมเพรียงกัน พร้อมเพรียงกันทำความสะอาดบ้านสะอาดเมือง พร้อมเพรียงกัน ทำที่อยู่ที่อาศัยก็พร้อมเพรียงกันทำ เออ ไม่ได้ทำคนเดียว ทำพร้อมเพรียงกันหลายๆ คน
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
เพิ่นบอกไว้แล้ว
สะมัคคานัง ตะโป สุโข
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
แน่ะ เข้ามานี่อีกแล้ว ความเจริญมันเกิดขึ้นเพราะความสามัคคี ความเสื่อมของบ้านของเมืองก็ดี มันทรุดโทรม เพราะไม่พร้อมเพรียงกัน มันทรุดโทรม ถนนถเนนหนทาง มันแตกร้าว เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นร่องเป็นรอย อะไรต่ออะไร ไม่ ไม่ดีเลย ต้องดูแล ช่วยกันดูแล ตรงนั้นควรจะถม ตรงนี้ควรจะอัดแน่นซะ ให้มันแข็งแรงซะ ให้มันดีซะ เออ มันก็ดีขึ้นมา เอาละที่พูด หยิบโน้นหยิบนี้มาพูด ต้องการให้นำไปใคร่ครวญพินิจพิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนเอง และก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็ได้รับแต่ความสุขความเจริญทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทุกประการ รับประทานวิสัชนามา ก็ยุติด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(สาธุ)
กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
สัพพะปาปัง วินัสสันตุ อะเสสะโต
บาปทั้งปวง จงวินาศสิ้นไป โดยไม่เหลือ
สรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้า ถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้า ถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้า ถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ
โทสัคคินา
ไฟ คือ โทสะ
โมหัคคินา
ไฟ คือ โมหะ
ราคัคคินา
ไฟ คือ ราคะ
โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
การยังกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คาถาบารมี ๓๐ ทัศ
การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี
วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี
บารมีชั้นธรรมดา ๑๐ (บารมี)
บารมีชั้นกลาง ๑๐ (อุปบารมี)
บารมีชั้นสูง ๑๐ (ปรมัตถบารมี)
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข
สะมัคคานัง ตะโป สุโข
ความเพียรของผู้พร้อมเพรียงกัน ให้เกิดสุข
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท
อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต
คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔ ข้อ ๒๔)
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
ทรงผูกขึ้นแปลได้ความว่า
“ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จ”
สัญลักษณ์ของความสามัคคีนั้นเห็นได้จากการ
ประดิษฐานตราแผ่นดินที่มีคาถาภาษิตว่า
“สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฒิสาธิกา”
ซึ่งแปลว่า ความพร้อมเพรียงของคนทั้งปวง
รวมกันเป็นหมวดหมู่ด้วยความสามัคคี
เป็นเครื่องทำความเจริญให้สำเร็จ
อยู่ที่เสาทั้ง ๔ มุมของพระบรมรูปทรงม้า
ในขณะที่ชาติไทยกำลังถูกล่าเป็นเมืองขึ้น
๕๓