หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

วันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๔๐ น.

ณ สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี

 

เอ้ ยังนึกคำที่จะแสดงธรรม ให้ญาติโยมฟัง ยังนึกไม่ออกอยู่ นึกยังไงดีฮึ ตั้งใจเด้อ ถ้าจำ ตั้งใจฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา เพิ่นว่า

 

สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง

 

ภาษิตเนี่ย ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ถ้าเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เอาใจไปหาการงานทางไหนอยู่ หาลูกหาหลานเพิ่นเลิกโรงเรียนแล้วยังหรือยังไง หาสารพัดอย่าง ใจมันไปได้ การค้าการขายก็เป็นเรื่องกังวลใจเหมือนกัน ทำให้ใจฟุ้งซ่านไปเหมือนกัน ธรรมดาฟังเทศน์ก็ต้องทำใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าส่งไปทางอื่น อย่าไปส่งนอกจากร่างกายไป ครูบาอาจารย์เพิ่นสอนว่า เวลาฟังเทศน์ให้จิตใจของตัวอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ได้ยินอยู่ที่หู ให้ได้รู้อยู่ที่ใจ แล้วกำหนดจดจำเอา เวลามันผ่านเข้ามาหูแล้วปล่อยมัน อันนี้เป็นคำเตือนซื่อๆ หรอก ครูบาอาจารย์เพิ่นบอกอย่างนั้น ถ้าฟังเทศน์ก็ดี ฟังการประชุมใดๆก็ดี ถ้าใจไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว คิดพะว้าพะวัง กังวลไปถึงงานการทางอื่น อย่างนี้ก็แล้วกันน่ะ การประชุมก็เลยเหลวไหล ไม่ค่อยเป็นล่ำเป็นสันขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้น การฟังเทศน์นี่ขอให้ตั้งใจ อันนั้นล่ะ อืม นะโม อีกครั้งหนึ่ง ล่ะปะเนี่ย

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

 

หลวงปู่ว่าคนเดียวน่ะ

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

 

แปลออกมา ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงมีแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น เอาล่ะ อืม

 

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ อัตโถ

สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

เนี่ย มันระลึกได้ตรงนี้ ที่จริงแล้วมันก็เป็นของสำคัญต่อเราอยู่ ทุกเรื่องนั่นแหละในธรรมะ

 

ทานัง เทติ สีลัง รักขะติ ภาวะนานัง ภาเวตตะวา

เอกัจโจ สัคคัง คัจฉะติ เอกัจโจ โมกขัง คัจฉะติ นิสสังสะยัง

 

แน่ะ อันนี้ก็สำคัญอยู่ สำหรับพวกเราผู้กำลังศึกษาธรรมะธัมโมอยู่แล้ว

 

ต้องเอาภาษิตเหล่านี้มาเตือนตัวเองไว้เสมอ

 

อย่าให้มันนอกลู่นอกทางออกไปทางอื่น อย่าเอาหูไปนา อย่าเอาตาไปไร่ อย่าเอาใจไปกังวลกับลูกกับหลาน ให้อยู่กับเนื้อกับตัว ให้ได้ยินอยู่ที่หู ให้ได้รู้อยู่ที่ใจ ของเหล่านี้เอง เพราะว่าการฟังเทศน์นี้ จะฟังเอาความรู้ ความรู้สึกตัว ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัวในระยะหนึ่งซะก่อน ออกจากที่ฟังเทศน์ไปแล้วจะ จึงส่งสายไปทางอื่นก็ได้ ผู้บางคนน่ะไป รถไปจากบ้านไปวัด ไม่รู้ว่าเอาอารมณ์อะไรต่ออะไรไป นึกคิดไปทางอื่นวุ่นๆ วิ่งวุ่นวายไปหมด

เวลาไปฟังเทศน์ฟังธรรม มันก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอีก มันก็ดิ้นรน กระวนกระวายส่งส่าย ไปตามสัญญาอารมณ์ของตัวเองนั่น อย่างนี้บ่ได้ประโยชน์ เพิ่นว่าไม่ได้ประโยชน์ในการฟังเลย ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว รู้สึกตามคำพูดของท่านทุกถ้อยคำ ทุกความประสงค์ ท่านมีความประสงค์อะไร ท่านจึงเทศน์เรื่องนี้ ให้อยู่กับเนื้อกับตัว รู้เสมอๆ น่ะ ไม่ต้องส่งไปทางอื่น ทางอื่น แล้วธุระอันนี้ซะก่อน จึงไปคิดมัน จึงไปพิจารณามัน โอ้ ไหนมึงมาแล้ว มึงไปฟังเทศน์ ด่าตัวเองแล้วว่า มึง มึงเหรอ มึงไปฟังเทศน์ นึกว่าจะเอาคำเทศน์มาวิจัยวิจารณ์ แต่ว่าเอาเรื่องวุ่นวายขึ้นมาอย่างนี้หรือ อย่างงั้นเหรอ ไม่ถูกอีกแหละๆ อยู่กับเนื้ออยู่กับตัว ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ได้ยินอยู่ที่หู ได้รู้อยู่ที่ใจ เอาสติปัญญาเป็นผู้วิจารณ์ ไตร่ตรองตามธรรมเทศนานั้นๆ ก็เป็นการจดจำไปในตัว ถ้าเราเอาใจไว้กับเนื้อกับตัว ก็เลยนำคำเทศนา ได้ฟังมาแล้วเอาไปวิจารณ์อยู่ตัวเองก็ได้ เวลาอยู่คนเดียวเอาไปวิจารณ์ว่ามันเป็นจริงอย่างงั้นหรือเปล่า อ้า เป็นจริงอย่างที่ท่านบอกหรือเปล่า

 

บาป บุญ คุณ โทษ

มันเกิดจากใจจริงหรือเปล่า

 

อืม หัวใจดวงเดียวเป็นได้หลายอย่าง คิดให้เป็นบาปมันก็เป็นบาป เศร้าหมองขุ่นมัวได้ คิดให้ว่าเป็นบุญเป็นกุศล จิตใจก็เบิกบานร่าเริงหรือแจ่มใสขึ้นมา แน่ะ ความคิดเท่านั้นล่ะ ทำให้เป็นได้หลายอย่าง อารมณ์ของหัวใจ คิดให้เป็นบาปก็เศร้าหมองขุ่นมัวขึ้นมา ความอิจฉาริษยา พยาบาทอาฆาต จองเวรจองกรรมคนโน้นคนนี้ เพียงแต่เห็นหน้ากันก็ไม่อยากพูดด้วย หรือว่าหมั่นไส้ เฮอะ หมั่นไส้คนนั้น หมั่นไส้คนนี้ เอ้า ไปเอาเรื่องอะไรมาคิดกันอย่างงั้นเหรอ ไม่ได้หมั่นไส้ใครทั้งนั้นล่ะ หมั่นไส้เจ้าของดีกว่า บอกว่าๆ อย่าคิดๆ อย่านึก อย่าฟุ้งซ่านไปทางอื่น ให้อยู่กับเนื้อกับตัว ก็ได้ทุกถ้อยคำ กระทงความที่ท่านว่าไปแล้วระลึกได้ อ้า

กัมมัง

 

ก็หมายถึงว่าการกระทำ กระทำด้วยตีนด้วยมือก็เป็นกายกรรม พูดออกมาทางวาจาก็เป็นวจีกรรม นึกคิดทางจิตใจฟุ้งซ่านอยู่นั่นก็เป็นมโนกรรม เราทำมันจึงเกิดขึ้นมาได้ บาปก็ดี บุญก็ดี การกระทำของเรา การพูดของเรา มันก็แสดงออกถึงความกำหนดจดจำมาแล้วนั้น เออ จำได้แม่นๆ ไม่หลงหน้าหลงหลัง มีสติตั้งมั่นอยู่กับเนื้ออยู่กับตัว นั่น เรียกว่าฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา เพิ่นบอกไว้ในภาษิตว่า

 

สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง

 

ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ถ้าฟังด้วยความฟุ้งซ่าน จะได้ปัญญาหรือเปล่า ได้ความรู้หรือเปล่า ไม่เลย อ้า ถือแต่ตะกร้าเปล่ากลับบ้าน ไม่มีติดเนื้อติดตัวมา อันนี้ก็ ไม่ว่าเทศน์เรื่องอะไรๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องส่วนตัวผู้รอฟัง พวกเราตั้งใจฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

 

สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง

 

ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ได้ความรู้ เอาไปทำไมความรู้เหล่านี้ เอาไปตัดอารมณ์ อารมณ์รัก อารมณ์ชัง อารมณ์ยินร้าย อารมณ์ยินดี อารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ ความโลภ อารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความหลง เหล่านั้นก็ไม่ค้างอยู่ในหัวใจเรา จะเอามาคิดอย่างนั้น ความอาฆาตพยาบาท จองเวรซึ่งกันและกันเหล่านั้น ทิ้งแล้ว เรามาบำเพ็ญกุศล ความอาฆาตพยาบาท จองเวรซึ่งกันและกัน เลิกแล้ว ละแล้ว ไม่มี ไม่มีพยาบาทอาฆาตใครเลยในหัวใจเรา แผ่เมตตาแทน ถ้าไม่

 

ถ้าคิดอย่างอื่นไม่ออก ให้แผ่เมตตาแทน

 

ปรารถนาดีแทน ปรารถนาดีต่อกัน ไม่พยาบาท ไม่อาฆาต ไม่จองเวร ไม่ชังคนโน้น ไม่ชังคนนี้ ไม่ตาเขียวใส่ใครเลย เออ ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นหรอกเรียกว่า ภาชนะ ตั้งภาชนะขึ้น รองรับเอาซึ่งมธุรสวารีขององค์สมเด็จพระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาไปใคร่ครวญพินิจพิจารณา ว่ามันจริงอย่างที่ท่านว่าหรือเปล่า ใจของเรามันเศร้าหมองก็เป็น มันผ่องใสก็เป็น มันขุ่นมัวก็เป็น มันใสสะอาดก็เป็น เวลาได้ลิ้มรสพระสัทธรรมอย่างลึกซึ้ง ใจมันจะผ่องจะใส เบิกบานร่าเริง และก็มีความสุขใจ

ถ้าไปคิดเรื่องเป็นบาปเป็นกรรมมา มีอิจฉาริษยา พยาบาท คนโน้นคนนี้ หมั่นไส้อยู่แต่ตัวคนเดียว กัดฟันอยู่คนเดียว อื้ม เห็นหน้าอยากจะตบเหลือเกิน อยากจะตีเหลือเกิน เอาอย่างงั้นเหรอ ถ้าเอาอย่างงั้นมันก็วุ่นวายทั้งประเทศ ทั้งประเทศปานเขาเล่นละครน่ะ เขาเล่นละครอยู่ในทีวี มีการตบ มีการตี มีการต่อยกัน บางทีขยุ้มผมกันไป ดึงไปดึงมาอยู่อย่างงั้น

นั่นอารมณ์โลกเขาเป็นอย่างงั้น ความอาฆาตเคียดแค้นมีอยู่ในใจ อยากจะทำตามความประสงค์ของใจเรา อืม พอจับได้ผมก็ดึงผมไป พอได้ตบก็ตบไปอย่างงั้นเหรอ เอาอย่างนั้นมันก็จะไม่ดีอีกแหละอารมณ์อย่างงั้น เป็นอารมณ์เศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่ผ่อง ไม่ใส ไม่สะอาด

 

บุญ นี่แปลว่าสะอาด

กุศล น่ะแปลว่าฉลาด เป็นคนฉลาด

บุญ แปลว่าสะอาด

บาป แปลว่าสกปรก

แปลว่าเศร้าหมอง แปลว่าขุ่นมัว

 

เนี่ยบาป ถ้าเอาบาปไปใช้อยู่ เราก็ไม่พ้นจากความเศร้าหมอง ความขุ่นมัวของใจเราเอง จะทำยังไงจะให้มันผ่องมันใส ให้มันเบิกมันบาน ร่าเริงอยู่ในใจของเรา มีความร่าเริงบันเทิงอยู่ในใจ มีความสุข นั่งเป็นสุข นอนเป็นสุข ได้ฟังเทศน์มาแล้วเราจะเอาความสุขใส่ตัว เออ ให้ได้ เราไม่เอาเรื่องขุ่นมัวมาใช้เลย ไม่เอาเรื่องขุ่นเรื่องมัว เรื่องอาฆาตมาดร้าย พยาบาท จองเวรจองกรรมกับคนโน้นคนนี้ ไม่เอาแล้ว จะเอาแต่ของผ่องใส ผ่องใสเยือกเย็น เป็นบุญเป็นกุศล เอามาหาตัว นึกถึงเวลาไหนก็ยิ้มอยู่ในใจเวลานั้น ว่าตัวชนะบาปแล้ว ไม่เคยลุอำนาจแก่ความโกรธ ไม่เคยลุอำนาจแก่ความชัง ไม่เคยลุอำนาจแก่ความหลงใดๆ สิ่งเหล่านั้นมันมีอำนาจมาก ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมันมืดมิดปิดปัญญา ระลึกไม่ได้แล้ว อะไรที่ทำให้เศร้า ให้หมอง ให้ขุ่น ให้มัว

จะเอานิทานสักเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เป็นนิทานภาคอีสานนู้นหรอก มันเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด เออ เกิดที่นั่น จนได้มีอนุสาวรีย์ไว้ ทำไว้ให้ลูกหลานได้รู้ได้เห็น ภาษามันพูดยากๆ ภาษาลาว เออ ไอ้ อะไรล่ะมันล่ะ

ไปเลี้ยงแม่ เลี้ยงมารดา พ่อก็ตายแล้ว ยังแต่ลูกชายเขานั่นล่ะ เออ แต่ลูกชายทำงานเก่ง ตื่นแต่ดึกลุกแต่เช้า ไปไถนา ไปทำนาไปไถนา ไถฮุด(ไถครั้งแรก) หรือว่าไถค้นฮุด(ไถพรวน) แต่ว่าวันนั้นเผอิญแม่ แม่ไปนึ่งข้าวไว้หรือว่าหุงข้าวไว้ ลืมเติมน้ำใส่หม้อ ไฟก็เลยไหม้หม้อจนแดงหมดหม้อ ข้าวที่นึ่งไว้ ที่ตนตั้งใจจะหุงต้มเอามาส่งลูกชายอ่ะ แต่ว่าไฟไหม้หม้อ ไหม้ทั้งหวด(ภาชนะนึ่ง) ไหม้ทั้งมวย(นึ่งข้าว) อ้า ที่มัน เออ มันเพราะน้ำมันแห้งแล้ว มันก็ต้องแห้งหมด

อื้อหือ อืม เคียด(โกรธ)ให้แม่ โกรธให้แม่อยู่อย่างงั้นน่ะ มีความโกรธ สะสมความโกรธไว้มาก มึงเถอะน้า ทำไมอยู่ จึงบ่มา นั่นก็มาแล้ว สายแล้ว ๔ โมง ๕ โมงไปแล้ว เพิ่นนั่งโมโหตัวอยู่ ที่เถียงนา เถียงนาน้อย น้อยๆ เอ้อ นี่มันทำไม มันทรมานกูขนาดนี้ ให้กูหิวข้าว อยากกินข้าวก็ไม่ได้กิน มาไถนาแต่เช้าๆ จนสายป่านนี้ ยังไม่มา ยังไม่มาส่งข้าวเลย เดี๋ยวกูตีมันวันนี้แหละ ฆ่ามันมื้อนี้แหละ อ้า

แม่ก็ยอม ยอมว่าผิด แม่ผิดเอง เพราะมีเหตุที่ผิดๆ ไม่ได้จะแกล้ง ไม่ได้ทำกลั่นแกล้งลูกชายหรอก คือว่าตั้งหม้อไว้แล้วจะนึ่งข้าว จะหุงข้าวไปเนี่ย ตั้งหม้อไว้แล้วลืมเติมน้ำ เอาหม้อเปล่าๆ ไปตั้งไว้แล้ว วิ่งไปทำไอ้นั่น วิ่งไปทำไอ้นี่ เอาหม้อเปล่าๆ ไปใส่เตาไว้ หม้อมันก็แดงโล่ขึ้นมาแล้วเอาข้าวไปใส่ มันจะกินได้บ่ ไฟไหม้หม้อขึ้นมา แล้วก็เสียหมด ข้าวอยู่ในหม้อในหวด(ภาชนะนึ่ง)อะไรเสียหมด โอ้โฮ มัวแต่ทำอันอื่นอยู่ กลับมาก็ไฟควันหุ้มไปแล้ว

นั่น ทำให้ลูกชายผู้นั่งคอยกินหิวข้าวอยู่ โมโหขึ้นๆ อย่างหนัก สายป่านนี้ มันยังไม่มา มันทำอะไรอยู่ เออ มันไปทำอะไรอยู่มันถึงไม่มา สายมากแล้ว จาก ๒ โมงก็เคยมาถึงแล้ว อันนี้ ๓ โมง ๔ โมงยังไม่เห็นมา เถอะน้า มานี่กูจะตีมึงล่ะ เอาล่ะ เตรียมการไว้แล้ว เอาแอกน้อย แอกน้อยที่ไถติดกับอะไรล่ะ แอกน้อยนั่นพอดีแก้ไว้แล้ว วางอยู่ใกล้ๆ จะมันตายมื้อนี้ล่ะ ว่างั้น มันหิวข้าวจนว่าพอแรงแล้วจนจุก จุกท้อง คนหิวมากๆ มันเป็นยังไง ทั้งโมโหอีกด้วย ขึ้นมา กรูเข้ามาพร้อมๆ กัน ทำอะไรอยู่ มันถึงมาสายป่านนี้ ป่านนี้ถึงมา

มาแล้วลูกหลานเอย แม่มีเหตุ แม่ตั้งหม้อไว้แล้วลืมเติมน้ำ ทำให้ไฟไหม้หม้อ เอาแล้วไปใส่หวด(ภาชนะนึ่ง)ใส่อะไร มันก็ไหม้ไปหมดรวมกันหมด มันไม่เป็นข้าวสุกดี เพราะไหม้หม้อ จะเอาข้าวอย่างงั้นมาให้ลูก ก็คงกินไม่ได้ แม่เลยไปหุงข้าวใหม่หรือว่านึ่งใหม่ ไปเสียเวลาทำอยู่นั้นซะก่อน ไปนึ่งใหม่ไปทำอะไร ก็เลยเสียชั่วโมง ๒ ชั่วโมง มันก็ไปสุกข้าวพอดี จนหม้อมันดีแล้ว สุกดีแล้ว ปะนี้จึงเอามาส่าย ส่ายแล้วจึงเอามาก่อง ก่องข้าวก็ แอบข้าว(กล่องข้าว) เขาเอิ้น(เรียก) อย่างแอบข้าว(กล่องข้าว) เขาเอิ้น(เรียก) ก่องข้าวน้อยนั่น เอามาส่ายดีๆ ก็ใส่ก่องข้าวน้อยๆ ให้ต้อนแต้น(ชิ้นเล็ก)พอดีกับลูกชาย พออิ่มพอดีล่ะ

มาแล้วเหรอ มันสิ มายังไง มันซวยขนาดนี้ มันเอามาอะไรทำไม โมโหอย่างแรง นี่ฆ่ามันทิ้งซะบ่ อย่างงั้นอย่างงี้ ก็ยอม แม่ก็ยอมหมดทุกอย่างเอา อดไม่อยู่ ยิ่งคดคิดไปยิ่งหิวมาก หิวมากเท่าไหร่ก็โกรธมากเท่านั้น คว้าได้แอกน้อย

อืม พวกเราไม่รู้จักหรอกแอกน้อย แอกน้อยสำหรับมันไถนาล่ะ ผูกเอาไว้คอไว้ตรงกลาง ทางนี้ผูกข้ามไปถึงแอกใหญ่ที่อยู่ที่คอสำหรับไถนา

คว้าได้แอกน้อย ลิ่วใส่แม่ ฆ่ามันตายมื้อนี้ล่ะ อ้า หิวข้าวกับประกอบด้วยความโมโห โมโหจัดขึ้นมา ทนไม่ไหวตีแม่นั่นล่ะ ตีก็จะ แม่ก็ไม่หลบแหละ ว่าลูกไม่ทำปานนั้นหรอก ตีก็ถูกท้ายทอยพอดี ถูกท้ายทอยเนี่ย หัวข้างหลัง รู้จักท้ายทอยบ่ ตรงนี้ตีเข้าตรงเนี่ย ล้มฟุบไป ล้มฟุบไปแล้วก็สลบ สลบปะเนี่ยเลือดฟูมปากออกมา เลือด มันสมองแตกข้างในหรือยังไง ฟูมปาก หายใจหายคอก็ไม่ได้ ปู๊ดป๊าดๆ อยู่ มันเลือดออกมาขนาดนั้น อ้า ปะเนี่ยไปตีแม่ตายไปแล้ว ไปจับข้าวมากิน ก่องข้าวน้อยๆ น่ะ เอ้า มาน้อยๆ หรืออย่างงั้นมันจะอิ่มอะไรอย่างเนี่ย จับข้าวมากินลองดู กินข้าวมีอาหารธรรมดาบ้านนอก เขามีอะไรหลายอย่าง บ่ป่น(น้ำพริก)ก็แจ่ว บ่แจ่วก็ป่น(น้ำพริก) พวกต้มยำทำ แกงอะไรก็ไม่ได้มีมากมายหรอก กิน กินแล้วก็เหลียวเห็นแม่นอนสลบ แม่นอน...บ่ฟื้นบ่ตื่นอะไรเลย กินไปกินมาก็กลืนไม่ลงปะเนี่ย ความโมโหมันสูงขึ้นมา ไปตีแม่ขนาดนั้นมันจะไปเหลืออะไรไอ้แอกน้อย ค้อน ไม่ใช่ค้อนน้อยๆ น่ะ ค้อนมัน แอกน้อยมันขนาดนี้ ยาวเป็นศอก ๒ ศอกนู้นล่ะ ไปตีแม่ ตีผู้หญิง จะไปต้านทานอะไรได้ ถูกที่ท้ายทอยล้มฟุบไปเลย โลหิตแตก เลือดก็ออกตามจมูกตามปาก ปู๊ดป๊าดๆ ออกมา กินข้าวยังไม่ยังอิ่มกินไม่ลง ไปเห็นแม่นอนอยู่ ไปลุกแม่ปลุกแม่ เอาแล้วความหิวบ่มีแล้ว เห็นแม่นอนอยู่ดึงผมขึ้นมาแล้ว เลือดฟูมปาก โอ้โฮ แม่เราตายแล้วเนี่ย ตายจริงๆ เขย่ายังไงก็ไม่ฟื้น ทำยังไงก็ไม่ฟื้น จะฟื้นอะไร ตีเส้นประสาทลงที่คอเข้า ด้วยแรงโมโห อ้า ตีเข้าไปแรงๆ มันเป็นยังไง มันก็กระดูกพู้น(โน้น)ล่ะ ทรุดหรืออะไรทรุด เออ เส้นประสาทแตก เลือดก็หลั่งออกทางปากออกทางจมูก ปู๊ดป๊าดๆ เขย่ายังไงก็ไม่คืน เขย่าแม่ แม่ๆ ลุกขึ้นมา เออ ความโกรธไม่มีแล้วเวลานั้น ไม่มีความโกรธแล้ว มีแต่ความวิตกกังวล ตายแล้วกู แม่ ทำให้แม่ตายขณะนี้ อ่ะ ทำยังไงล่ะ เขย่าแม่ให้ฟื้นก็ไม่ฟื้น ตายแท้ๆ เอาแม่ไปฝัง หรือไปหยังซะก่อน เรียบร้อยซะก่อน แล้วกินข้าวไม่ได้ตลอดวันเลย วิ่งไปหาครูบาอาจารย์วัดนั้นวัดนี้ ผมได้ฆ่าแม่ตาย ทำยังไงผมจะไม่ตกนรก อ้า ผู้เฒ่าผู้โถ คนเก่าคนแก่ ใครฆ่าพ่อฆ่าแม่

 

ปิตุฆาต มาตุฆาต

อรหันตฆาต โลหิตตุปบาท

 

เหล่านี้เพิ่นว่า

 

อนันตริยกรรม

 

กรรมอันหนัก ทำยังไงถึงจะเบาลงไปได้ นักปราชญ์บางคนก็บอกว่า โอ้ย บุญมาเอย การจะให้คลายบาปคลายกรรม ก็ให้หาอิฐ หาปูน หาอิฐมาก่อเจดีย์ขึ้นไปสูงกว่ายอดมันปานนกเขาเหินนู้นล่ะ ยอดเจดีย์ปานนกเขาเหินพู้น(โน้น)ล่ะ สูงขนาดนั้น ตายเรียบร้อยแล้ว ประดับประดาเรียบร้อยแล้ว จึงเอากระดูกแม่ที่เผาแล้วนั้นมาใส่ไว้ที่นั่น ทำบุญอุทิศให้ซะก่อน จึงจะหายบาปหายกรรม ทำยังไงมันทำไม่ได้ ทำขนาดนั้นคนๆ เดียวทำ ก่อ หาอิฐ หาปูน หาอะไรที่มีอะไรอยู่ สมัยก่อน สมัยจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งใหม่ๆ พู้น(โน้น)ล่ะ นั่น

โมโหนี้ โกโธนี้ กิลาสาตัวหยาบ

เกิดแก่ไผมืดตื้อ บ่เห็นฮู้ฮ่อมทาง

ความโกรธมาเพม้าง จิตใจใสให้กลับมืด

ถ้ามืดมาแล้ว ประโยชน์ตนก็เลยลืม

ประโยชน์ผู้อื่นเลยบ่ฮู้ ทำลายร้างขาดกระเด็น

(ความโมโห ความโกรธนี้เป็นกิเลสตัวหยาบ

เกิดขึ้นกับใครแล้วมืดมน มองไม่เห็นทางออก

ความโกรธนั้นพาให้จิตใจเรามืด

ไม่รู้ประโยชน์ตัวเองและคนอื่น ทำลายเสียหาย)

 

โมโห โกโธ

 

โมโหโกรธา ปรายนา(พ่ายแพ้ที่สุด) เป็นสิ่งที่ทำลายคุณงามความดีของหัวใจได้ นี่ยกไอ้บุญมา เออ ชื่อบุญมา ตีแม่ตาย ได้ไปก่อเจดีย์ขึ้นบรรจุใส่กระดูกแม่ซะ แต่มันก็ยังไม่หายบาป ก็ยังมีบาปอยู่นั่นแหละ หัวใจแป้วอยู่งั้นล่ะ อืม

กิลาสาตัวหยาบจริงๆ

ถ้าเกิดแก่ไผมืดตื้อ บ่เห็นฮู้ฮ่อมทางอ่ะนะ

 

พูดภาษาอีสานแล้ว มันเข้าใจดีสำหรับคนอีสานทั้งหลาย สำหรับคนกรุงเทพฯ ก็ยังซักไซ้ไล่เลียง ท่านว่าอะไรฮะๆ เฮอะๆๆ เออ พูดภาษาไทยไม่ชัด อ้า จะถามสงสัยท่านว่า อะไรฮะๆ

อันนี้พูดง่ายๆ ให้จำง่ายๆ ไอ้บุญมาที่บ้านสะเดาตาดทอง แม่มาส่งข้าวไม่ทัน สาย สายแล้วก็ยังไม่เห็น หิว คนหิวก็หิวมากจนว่าปากเหนียว น้ำลายเหนียวพู้น(โน้น)ล่ะ โมโห ก็อดไม่ได้ ทนไม่ได้ เลยกริ้วโกรธเถียงกัน ๒ คำ ๓ คำ มันเป็นอย่างงั้นลูกเอย แม่ถึงมาไม่ทัน เออ ไฟไหม้หม้อ หม้อนึ่งหม้ออะไรล่ะ แล้วกลับไปหุงใหม่ ก็เสียเวลากว่าจะหุงสุก หรือว่านึ่งสุกก็เสียเวลาอยู่ซะก่อน มันไม่ใช่แกล้งมาไม่ทันเวลาหรอก มันเป็นอย่างงั้น เรื่องมันมีอ่ะ ขัดข้องเรื่องนั้น แม่ก็ยกมือไหว้ลูกขึ้นล่ะ เอาซะเลยเวลานี้เผลอ เออ ตีซะเลย เอาแอกน้อยตีท้ายทอย หรือทัดดอก(ไม้)ตรงนี้ ตีผู้หญิง กับผู้ชายกำลังโมหก โมโหๆ จะมีแรงขนาดไหน ตีทีเดียว แขนเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้อง ๒ แขนหรอก ตีไปถูกท้ายทอยอ่ะ โลหิตฝอยแตกข้างใน เลือดทะลักออกมาทางจมูกทางปาก ปื้ดป้าดๆ หายใจ ปื้ดป้าดๆ อยู่ เห็นแม่ตายแล้วเราอย่างงั้น ไอ้บุญมาน่ะ มันเสร็จเอาข้าวมากิน กินได้คำเดียวก็กลืนไม่ลงแล้ว กินคำเดียวก็กลืนไม่ลงหรอก เห็นแม่ตายระงมไปแล้ว แม่ตายจริงๆ เออ ทำยังไงก็ไม่ฟื้น ทำยังไงจะฟื้น
นั่นแหละ

 

โมโหนี่พาตัวตกต่ำ หลานเอ้ย อย่าฟังความมันน่ะ

ยกตัวอย่าง ท้าวก่องข้าวน้อยได้ฆ่าแม่ตายเสีย คราวนั้น

ก็เพราะว่าโกโธมัดมืดมุงปิดไว้ บันดาล ให้โทโสจึงบังเกิด

จึงได้ฆ่าแม่เจ้าตายม้อย ส่อยบ่คืน(ไม่ฟื้นคืนมาได้)

 

เอย ร้องไห้กันหมดน้ำหูน้ำตา อ้า หมดน้ำหูน้ำตาเฉยๆ มัน ล้าไปแล้ว นั่นเป็นอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้น อย่าไปฟังความโกรธ อย่าไปโทษคนผิด

 

อย่าไปเอาโทษคนผิด

อย่าไปคิดเบียนกัน

อย่าไปดันทุรัง

ให้มีความอดความทนสำหรับผู้ที่ได้ฟังเทศน์ไปแล้ว ให้มีความอดกลั้นทนทาน อ้า ถ้าไม่อดไม่ทนแล้วเสียหมด เสียการเสียงานไปหมด พ่อ แม่ ลูก ฆ่ากัน อย่างกบ อย่างปลา อย่างกบ อย่างเขียด ฆ่ากันได้ขนาดนั้นเพราะความโกรธ

เพราะฉะนั้น ต้องฆ่าความโกรธให้มันได้ อย่าให้มันเกิดขึ้นมาได้ในชีวิตของเรา นี่อย่าเอาความโกรธมาใช้

 

โกโธ ธัมมานัง ปะริปันโถ

 

อืม เพิ่นบอก อันตรายมากๆ ทำให้ไปตกนรกหมกไหม้ เพราะความโกรธ โกรธให้พ่อ โกรธให้แม่ แล้วก็ไปฆ่าพ่อก็ดี ฆ่าแม่ก็ดี ฆ่าคนอื่นก็ดี ติดคุกติดตะราง จนหัวโตก็ไม่ได้ออกจากคุกจากตะราง เพราะฉะนั้น อย่าเอามาใช้นะ

 

โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ

 

เพิ่นยังบอกไว้ บอกว่า ฆ่าความโกรธได้แล้วอยู่เป็นสุข

 

โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ

 

ฆ่าความโกรธได้แล้วอยู่เป็นสุข ไม่มีทุกข์หัวใจเลย ทำงานทำการอะไรก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะใจมันไม่โกรธ ความโมโหโกรธาไม่มี ไม่มีความโกรธ ให้เจริญเมตตาเสมอๆ

 

คนขี้โกรธทั้งหลายให้เจริญเมตตา

ถ้าโกรธให้พ่อ โกรธให้แม่ก็เหมือนกัน โธ่

 

แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

 

เน้อ ไม่ได้ธรรมดาซื่อๆ มาฆ่าเล่นเหมือนกบเหมือนปลานั้นได้ยังไง เออ ฆ่าไม่ได้ ถึงจะโกรธขนาดไหนก็ฆ่าไม่ลง อืม เพราะว่าเพิ่นมีบุญคุณต่อเรา ครูบาอาจารย์ หรือพระพุทธเจ้าเพิ่นสอนไว้ เออ

 

พ่อแม่มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

 

ผู้ฟูมฟักรักษา ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยว ตั้งแต่น้อยๆ มา อ้า ไม่เคยทอดทิ้งลูกเลย ขี้มูกออกหายใจไม่สะดวก ปื๊ดป๊าดๆ อยู่ มันตันดัง(จมูก) เป็นหวัดหรืออะไร หายใจไม่ออก แม่เป็นงมอยู่อย่างงั้นล่ะ อยากให้ลูกหายใจออก เออ

พระเจ้าอะไรล่ะ พระเจ้าพิมพิสาร เออ ลูกชายหายใจไม่ออก เอาปากตัวเองไปอมที่จมูกลูก ดูดปื๊ดๆๆ ดูดแรงๆ ออกมาซะแล้ว ออกมาก็หายใจได้สะดวกสบาย อ่ะ นี่พระเจ้าพิมพิสาร อ้า แต่สมัยครั้งพุทธกาลนู้นล่ะ พระเจ้าพิมพิสารก็เป็นเพื่อนกันกับ อ้า พระเจ้าหลายพระเจ้าอยู่สมัยก่อนอ่ะ เพิ่นเลี้ยงลูกด้วยความรักความเอ็นดูมาก แม้แต่ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยว ก็ทำแทนได้ เป็นหวัดหนักหายใจไม่ออก พ่อนั่นล่ะ พระเจ้าพิมพิสารนั่นล่ะ อุ้มลูกมาได้ดีๆ มาอมจมูก อมจมูกดีๆ แล้วดูดอย่างแรง ปื๊ดๆๆ ออกมาหมด บ้วนทิ้งๆ จนหายใจได้คล่องอย่างนั้น อ่ะ ไม่ขี้เดียด(รังเกียจ) ไม่รังเกียจ แม่ก็ดี พ่อก็ดี เลี้ยงลูกด้วยความเมตตาจริงๆ เออ แต่ว่าลูกนั้นลืมบุญคุณของพ่อของแม่ไป ไปทรมานพระเจ้าพิมพิสาร ขังคุกขังตะรางพ่อ ให้พ่อตาย เออ อยากให้พ่อตาย เราจะได้ราชสมบัติน่ะ

ตามคำยุยงของพระเทวทัต อ้า พระเทวทัตให้เขาเอา สั่งว่าอยากจะเป็นใหญ่ อยากจะเป็นโต ต้องฆ่าพระบิดาซะก่อนน่ะ จะฆ่ายังไง ถ้าพระบิดายังมีชีวิตอยู่ เราไม่มีโอกาสได้ครองราชสมบัติหรอก เออ ถ้าทำให้พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตหรือตายไปแล้ว อ้า เราก็จะฆ่าพระพุทธเจ้าซะเอง ขึ้นเป็นสมเด็จพระศาสดาเอง เป็นพระพุทธเจ้าเอง ได้ครองราชสมบัติไปทางนครโน้น เออ ทางพระลูกเจ้านี้ก็ ก็กับตัวได้เป็นพระมหากษัตริย์แทนพ่อ ได้ครองราชสมบัติแทนพ่อนั่นแหละ

 

ดูสิ คำยุให้รำ ตำให้รั่ว ยั่วให้โกรธ

 

ทำยังไง ไปฟังคำยุยงแบบนี้ ก็เสร็จไปทุกรายแหละ อ้า ถูกแผ่นดินสูบไปทุกรายล่ะ พระเทวทัตอยู่กับพระบรมศาสดา เออ สอนมาตั้งแต่มาเข้านาค หรือมาฝึกหัด บวชนาคให้ ขนาดนั้นน่ะยังอยากจะได้ราชสมบัติอะไรอีก อ้า ท่านไม่ให้อดอยากอะไร พระพุทธเจ้าไม่ให้อดอยากอะไรเลย เสื้อผ้าอาภรณ์ สบงจีวร ของใช้ของสอย ถ้าไม่มีมาเอาที่นี่ได้เลย อืม เทวทัตตีตัวออกห่างจากพระพุทธเจ้า หนีไปอยู่ต่างจังหวัด เออ ไปเป็นใหญ่เป็นโตอยู่โน้น มีลูกศิษย์ลูกหาติดตามไปมากมาย อืม

พระพุทธเจ้าก็โธ่ หมู่พวกไปไหนหมดเนี่ยหือ ไปๆ ไปเอาพระคืนมา เทวทัตมาหลอกลวงเอาไปเป็นลูกน้องบริวารอยู่ทางโน้น เอาคืนมาให้ได้ เดี๋ยว อืม พระทั้งหลายจะอดตาย ไม่มีใครเลื่อมใส ไม่มีใครดูแล จะอดตายพระทั้งหลาย พระอานนท์ พระ เออ อาสาไปเอาพระในนั้นหมด ในวันนั้นพระเทวทัตนอนจำวัด ตอนสาย ยังไม่ทันตื่นเลย ทางนี้ไปเกลี้ยกล่อม

เอ๊ย พวกคุณน่ะทั้งหลาย ทำไมเขายุ ยุให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ยุให้ฆ่านั่น เขาจะได้ครองราชสมบัติทางโลก ถ้าฆ่าพ่อได้แล้วจะได้ครองราชสมบัติ เราถ้าได้ฆ่าพระพุทธเจ้า ฆ่าพระศาสดาสำเร็จ ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแทน พระศาสดา ต่างคนต่างเป็นใหญ่ อันนี่ก็เป็นใหญ่ทางศาสนา ตัวของเราก็จะเป็นใหญ่ เออ แล้วแกจะครอง ครองราชสมบัติแทน เออ พ่อของตัวอย่างนั้นอย่างนี้

 

คำยุให้รำ ตำให้รั่ว ยั่วให้แตก

 

มันน่ะมีวิธีอยู่ เพราะไม่มีปัญญา มีปัญญาพาตัวรอดซะก่อน จึงจะไม่ทำบาป ไม่ทำบาป เขายุให้ฆ่าพ่อก็ฆ่าไม่ได้ เขายุให้ฆ่าแม่ก็ฆ่าไม่ได้ เพราะว่า

 

พ่อแม่มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

รักลูกเหมือนดังจะกลืนกิน ฉะนั้น ขี้มูกออกก็ดูดเอา ถ้าเสลดติดคอก็ดูดเอา ขนาดนั่นล่ะ แต่ว่ายังไปฝ่าฝืน อ้า พระคุณอันนั้น จะฆ่าพ่อของตัวเอง จะเป็นพระพุทธเจ้าแทนพระพุทธเจ้าเอง อ้า ทางนู้นก็ยุให้รำ ฆ่าได้แล้ว เทวทัตสิก็จะไปฆ่าพระพุทธเจ้าอีก จะเป็นพระพุทธเจ้าแทนอีก ถ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ลาภสักการะจะเอาสักเท่าไหร่ ลาภสักการะจะเอาสักเท่าไหร่ไหลมาเทมา เห็นพระบรมศาสดาเพิ่นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผ้าผ่อนท่อนสไบ เงินทองไหลมาเทมา แต่เพิ่นก็ไม่จับไม่ไปหรอก เออ ลูกศิษย์ลูกหาจัดแจงเอง แต่ว่าสงสัยว่าพระบรมศาสดาเก็บเอง อย่างงั้นดอก อยากเป็นศาสดาแทน จะได้มีอติเรกลาภมากๆ อ้า พระเทวทัต ไม่

พระ(อชาตศัตรู)อันนั้น อ้า ยุให้รำ ตำให้รั่วแล้ว พระ (อชาตศัตรู)จะได้ครองราชสมบัติ จนหลงฆ่าพระบิดา ฆ่า ขังพระบิดา ติดคุกติดตะรางอีก ไม่ให้กินข้าว ไม่ให้กินน้ำ จนตายในคุก ตายในคุกวันนั้นแหละ แต่ว่าทาง อ้า นี้ก็ตายเหมือนกัน พระบิดาก็ตายสิ้นลมเหมือนกัน เห็นเมียออกลูกวันนั้นพอดี ลูกชายของ เทวทัต ไม่ใช่ ลูกชายของ อันนี้พระราชกุมาร นี่ออกลูกเหมือนกัน พอดีออกลูกแล้วจึงทูลทีหลัง ว่าพระบิดาตายแล้ว โอ้ย ร้องห่มร้องไห้ใหญ่โต อ้า ว่าถูกต้มตุ๋นเราให้ฆ่าพ่อ เออ พระเทวทัตก็ถูกแผ่นดินสูบไปแล้ว เออ ตายแล้ว นี่ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเรา ฆ่าพ่อทิ้งเฉยๆ อืม พระบิดาก็ตายแล้ว นั่นเรียกหูเบา เป็นคนหูเบา

 

ยุให้รำ ตำให้รั่ว ยั่วให้แตก แยกให้ออก

 

ก็ยกเอาพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง ถูก เออ ไปยุให้พระราชกุมาร โกรธ โกรธพ่อตัวเอง ขังพ่อตัวเอง อืม ทางงั้นก็จะฆ่าพระพุทธเจ้าซะแล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ที่จริงมันไม่ได้เลยอย่างนั้นน่ะ ถูกยุให้รำ ตำให้รั่วอย่างงั้น ฟังความข้างขาเดียว ดูถูกมันไม่ใช่หรอก เออ

 

คิดให้ถี่ หวีให้เกลี้ยง เสียแล้ว

จึ่ง(จึง)ค่อยเดี่ยง(จัดแต่ง)เด้อ

บ่แม่น เฮ็ด(ทำ)น้อยๆ

 

เพิ่นยุ อันนี้เป็นคำยุยง ทำให้เรากริ้วพระบิดา เออ พระบิดาไม่ให้สมบัติ ถ้าหากไม่มีพระบิดาแล้วจะได้ครองราชสมบัติ ได้เมืองราชคฤห์อ่ะ อันนั้นน่ะก็จะไปฆ่าพระพุทธเจ้าอีก คิดปรุงอยู่อย่างงั้นน่ะ คิดว่าวางแผนหลายอย่างแล้วจะฆ่าพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปเขาคิชฌกูฏ อ้า ไปพักที่โน้น พักแรมที่โน้น เทวทัตก็อยู่ข้างบนโน้น กลิ้งหินลงมาเวลาพระพุทธเจ้ากลับมา แล้วกลิ้งหินก้อนใหญ่ๆ ถูก โครมๆๆ ลงมา แต่ว่าไม่ได้ทับพระพุทธเจ้าหรอก มาก้อนหินกับก้อนหินทับกัน ทับกันแล้ว มันก็แตกกระเด็นกระดอนไป สะเก็ดเล็กๆ น้อยๆ ไปถูก แทบฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า ทำให้ห้อซะ ทำให้เลือดคั่งค้าง ปวด ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน แต่ว่าหมอ เออ อันนั้นดี รักษาให้ดี เออ ก็เลยเป็นบาป พระเทวทัตก็เป็นบาปเหมือนกัน ถูกแผ่นดินสูบอีกเหมือนกัน หลายคนเนี่ยนะ พระเจ้าสุปปพุทธะก็ถูกแผ่นดินสูบ เออ พ่อของเทวทัตนั่นแหละ ลูกชายก็ถูกแผ่นดินสูบอีก มันเป็นอย่างงั้น มันบาปหนาสาโหด ถ้าหากว่าไปทำลายผู้มีพระคุณ บิดามารดาของตัว มารดาของตัวเอง อ้า ให้ถึงกับแก่ชีวิต ตัวเองก็บาปหนา แผ่นดินก็ต้านทาน ทานไม่ไหว ลงไปเหยียบแผ่นดิน แผ่นดินก็แยกออกดูดเอา อันนี้ตัวเทวทัตก็เป็นอย่างงั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น

 

บาปมันมีจริงๆ บุญมันมีจริงๆ

 

ผู้ใดทำบุญทำกุศล เป็นบุญเป็นกุศล เจริญรุ่งเรือง งอกงาม เออ ชีวิตงอกงาม ทรัพย์สินเงินทองน้อมกันเข้ามา แย่งกันเข้ามาอยู่ด้วยมากมาย

เพราะฉะนั้น เรื่องบาปๆ เบอๆ เหล่านั้น อย่าไปแหยม พวกเราผู้มีพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานสงฆ์ สั่ังสอนไว้มากมายก่ายเกิน เออ ได้จน ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

เออ แต่พวกนี้ยังวุ่นวาย อ้า แก่งแย่งแข่งดีกัน จะเอาราชสมบัติ อืม ก็เลยไม่ได้สมปรารถนา ต่อมา เออ พระเทวทัตก็ถูกแผ่นดินสูบ จะไปกราบพระพุทธเจ้า ขอโทษ ขออภัยกับพระพุทธเจ้า พอไปถึงเขตวัด อ้า แล้วก็อยากลงอยากเดิน เขาว่า อย่าเดินเถอะๆ อ้า เดินได้ จะหามเราไปถึงพระบรมศาสดาก็ขาดความเคารพ เราจะขอลงที่นี่ ที่ท้องนาแห่งนี้ เดินเข้าไปหาเอา ไปวัด เออ นั่นน่ะ ไม่ดี นั่นเป็นกุ๊กๆ กั๊กๆ เนี่ยอ่ะ ไม่ได้ท่องไม่ได้บ่น ว่าไปตามท้องเรื่องเฉยๆ

เพราะฉะนั้น อย่าประมัน อย่าหมิ่นประมาทผู้มีพระคุณต่อเรา บิดามารดา หล่อหลอมอะไรมาเป็นร่างกายของเรา

 

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

 

พ่อแม่เป็นคนให้ พ่อกับแม่ให้ร่างกาย แต่ยังไปพยายามจะทำให้พ่อให้แม่ เออ ทำลายพระพุทธเจ้าอีก โอ้ย มันก็หนักแผ่นดินน่ะ ทำอย่างงั้นน่ะมันหนักแผ่นดิน เป็นคนหนักแผ่นดิน ไปปลงพระชนม์พระบิดาของตัวเอง ปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้าเอง ตั้งใจอย่างงั้นแต่ไม่สำเร็จ ไม่ได้เป็นไร ไม่ได้ถูก เพียงแต่สะเก็ดหินกระเด็นกระดอนไปถูก หัวแม่เท้าของพระบรมศาสดาแค่นั้นน่ะ เกิดฟกช้ำดำเขียวขึ้นมา หมอชีวกโกมารภัจจ์มาผ่ามาตัด มาผ่าเลือดห้อออกซะ ดูดออกซะ เอายามาพอกซะ ก็หายได้หลับได้นอน สบาย ไม่ตาย อ้า

เพราะฉะนั้น พวกเราเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อยู่ใต้ร่มเงาของพระพุทธเจ้าแท้ๆ อย่าให้เรื่องอย่างนั้นเกิดขึ้นมาอีก

 

เขายุให้รำ เขาตำให้รั่ว เขายั่วให้แตก เขาแยกให้ออก

 

อยากครองราชสมบัติ อยากได้เงินได้ทองมาก ฆ่าพ่อฆ่าแม่ตัวเอง เออ อย่างนี้มันก็หนักแผ่นดิน จำได้ไหม อืม พระบรมศาสดาไม่เป็นไร อะไรจะพยายามยังไง ก็ไม่เป็นไร เออ พระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคิริง จะให้มา เออ ทำลายพระพุทธเจ้าเวลาบิณฑบาต อันนี้ก็เหมือนกัน ปล่อยช้างมาแล้ว แปร๋แปร๊น มาแล้ว โอ้ ทำลาย เออ บ้านเรือนพังถล่มทลายมาแล้ว เขาก็ห้ามพระพุทธเจ้า อย่าไปทางนั้นพระเจ้าข้า

อ้าว ปล่อยช้างๆ นาฬาคิริงร้องแปร๋แปร๊นแล้ว มุ่งหน้ามาทางนี้เลย มุ่งหน้ามาทางนี้ด้วย อย่าไปทางนี้ คนทั้งหลายก็กลัว วิ่งขึ้นต้นไม้ต้นตรอกไป พระพุทธเจ้าไม่เป็นไรหรอก ปล่อยมาเถอะ มาถึงใกล้ๆ พระบรมศาสดา พระบรมศาสดาก็จ้อง จ้องมองไปหาช้างนาฬาคิริงด้วยเมตตา ไม่ได้จ้องด้วยความกลัว ความโหดร้ายแต่อย่างใด จ้องไปด้วยเมตตา แล้วก็พูดด้วย

เอ๊ย นาฬาคิรีเอ๋ย เขามอมเหล้าเจ้าหรือ เอาเหล้าให้กินหมดกี่ไห กี่ขวด ทำไมเป็นอย่างนี้ ลูกพ่อ แล้วเขายังต้องการ ให้เจ้ามาทำลายเราตถาคตซะอีก เธอจะทำได้หรือเธอ หมอบฟุบลง ได้ยินคำภาษิตของพระพุทธเจ้า แล้วหมอบฟุบลงกับพื้น เอางาแทงดิน งาแทงลงดินน่ะ แล้วก็ไม่เงยขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าก็เอามือไปตบหัว เอ๊ย นาฬาเอ๋ย นาฬาคิริง สงสารนะลูกพ่อ เจ้ายังจะฆ่าได้ไปหมดทุกคนหรือ แม้แต่เราผู้เป็นศาสดานี่เธอก็จะฆ่าได้หรือ เออ ยกเอามือ(งวง)สอดไปตามขา ดูดเอาฝุ่น ขี้ฝุ่นติดธุลีพระบาทของพระพุทธเจ้า ดูดเอาๆ เอามาโรยหัวเจ้าของเอง ดูดมาแล้วก็มาโรยหัวเจ้าของเอง อยู่อย่างงั้นล่ะ อ่ะ ตบหัว พระพุทธเจ้าตบหัวให้แล้วก็ ลุกขึ้นมาถวายบังคมพระบรมศาสดา เออ ด้วยกิริยามารยาทอย่างเคารพ วิ่งแจ้นเข้าจำลองเนี่ยไปเอง วิ่งแจ้นเข้าไปเอง ไม่มีใครมาทรมาน ไปเหงาอยู่นู้น ทนทุกข์ว่า ตัวของเราทำบาปมากมาย เหงา อืม อยากจะตายแทนคนโน้นคนนี้พู้น(โน้น)ล่ะ แต่มีสติดีแล้ว ก็ไม่ตายหรอก เพราะฉะนั้น บาปนี่มีจริงๆ ไปทำกับบิดามารดาของตัวเราเป็น

 

อนันตริยกรรม

 

บาปหนาสาโหด เออ ถ้าทำกับคนอื่นไม่เป็นไร ถ้าทำกับพ่อกับแม่ มันบาปหนาสาโหดที่สุด พระเจ้าสุปปพุทธะก็ถูกแผ่นดินสูบ ผู้เป็นพ่อของเทวทัต ม้าอ่ะ ม้าอะไรอ่ะ ของพระเจ้าสุปปพุทธะ ก็ไม่มีใครตามจับได้ พระพุทธเจ้าน่ะ เออ พวกเขาก็ห้ามว่า อย่าลงมาๆ จากปราสาทเลย เออ เพราะว่าพระพุทธเจ้าบอกแล้ว จะถูกแผ่นดินสูบ ฮะ จะสูบยังไงล่ะ ไปตามแผ่นดินนี้ล่ะ ลงมาก็จะไปเอาม้า(ม้าอัสดรมงคล) ตัวเองพอก้าวถึงดินเท่านั้นล่ะ แผ่นดินแยกเอาแล้ว พระเจ้าสุปปพุทธะก็ถูกแผ่นดินสูบลงไป น่าทุเรศจริงๆ ลูกชายผู้ไปบวช เทวทัตนั่นก็ไปยุให้รำตำให้รั่วกับพระเจ้า บิดา พระบิดาของพระเจ้าอันนั้น เออ ก็ไปถูกแผ่นดินสูบเหมือนกัน

พระเทวทัตอยากจะมาขอขมาโทษพระบรมศาสดา อยากจะลงที่นี่ ไม่ ไม่อยากให้หามเข้าไป หามเข้าไปในวัดของพระบรมศาสดา ไม่ให้หามไป ขาดความเคารพ ท่าน เอาลงที่นี่ล่ะ ลงที่นี่ ขอลงที่นี่ ลง พอก้าวจากบันไดมาไม่มากมายนัก แผ่นดินก็แยกฮุบเอา แยกฮุบเอาพระเทวทัต ก็มือก็ยกขึ้นไหว้ไม่ได้ พระบรมศาสดามาดู อยากจะไหว้พระบรมศาสดา ผงก ไหว้ไม่ได้เพราะว่าแผ่นดินมันฮุบเอาไป ทั้งมือ ทั้ง ๒ ข้าง เหลือแต่ข้าง เหลือแต่คาง แหงนหน้าดูพระบรมศาสดา เลยอธิษฐานว่า

 

ขอบูชาพระบรมศาสดาด้วยดูก(กระดูก)คางนี้ เด้อ

 

มือก็ยกไม่ได้แล้ว อ้า เพิ่นก็อโหสิให้หรอก เธอ เธอทำบาปกรรมไว้สาหัสสากรรจ์ ก็ไปเสวยบาปกรรมซะ อ้า เทวทัตเอ๋ย เพราะฉะนั้น พวกเราเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า นับถือพระธรรมเจ้า นับถือพระสังฆเจ้า อย่าไปคิดนอกลู่นอกทาง อาฆาตมาดร้ายกับผู้ไม่มาเบียดกับแก่เราเอง แก่ประเทศชาติเราเอง อย่าไปคิดอย่างนั้น ก็ถูกแผ่นดินสูบไปแล้ว ไม่ดีเลย

ดังที่แสดงมาเป็น ปกิณณกนัย เพื่อต้องการให้นำไปใคร่ครวญพินิจพิจารณา ประกอบกรรมของตนๆ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ ต่อแต่นั้นก็จะได้ประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทุกประการ รับประทานวิสัจฉนามา ก็ยุติด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

(สาธุ สาธุ สาธุ)

 

หลวงปู่มันแก่แล้ว พูดอะไร มันก็หลงหน้าหลงหลังไป... มันเป็นอย่างงั้น ผู้ประมาท ประมาทพระพุทธเจ้า ประมาทบิดามารดาของตัว ก็สูบแผ่นธรณี

 

โอ้ เรานี่ทิ้งกันแล้ว จะลงไปไหน

 

(พิธีขอขมา)

ถ้าอยู่ด้วยกัน มันก็อาจจะทะเลาะกันอยู่ อันนี้อยู่ คนละที่
ละแห่ง ไม่เคยกระทบกระเทือนกันมา ถ้าๆ อยู่ด้วยกัน เหมือนถ้วยกับช้อน ถ้วยกับช้อน ถ้วยอาหารเนี่ย มันก็กระทบกันทุกวันน่ะ กระทบโป๊งเป๊งๆ เรื่อยๆ เอย อันนี้หลวงปู่ก็นั่งอยู่ที่นี่ มาก็มานั่งอยู่ที่นี่ ไม่เคยด่าเคยว่าใครเลย ไม่เป็นบาปเป็นกรรมเนาะ(นะ) อโหสิ

 

(สาธุ)

 

เจริญ เจริญ

(สาธุ)

 

ทำมาค้าขึ้น ซื้อง่ายขายคล่อง

มีเงินมีทอง ไหลมาเทมา

กินอย่าได้บก (กินไม่หมด)

จกอย่าได้ลง (หยิบใช้ไม่หมด)

อย่าได้เกินเป็นหาด (อย่าเกินมากไป)

อย่าได้ขาดเป็นวัง (อย่าขาดมากไป)

สรรพกำลังยังสมบูรณ์พูนสุข ยังดีคือเก่า

โอม อุ อะ มุมะ มูลมา

(ด้วยรัตนตรัย เงินทอง ทรัพย์สิน)

ขอจงไหลหลั่งเข้า มาเลยบ่เซา

(ขอจงไหลเข้ามาอย่าหยุด)

เงินคำแก้ว อย่าได้ขาดเขินถง

(เงินทองอย่าได้ขาดกระเป๋า)

ขอให้ฮงๆ ใส ดั่งทองในเบ้า

(ขอให้อุดมสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองเหมือนทอง)

ขอให้ไหลมาเต็มกระเป๋า อึ่งตึ่ง

(ขอให้ไหลมาเต็มกระเป๋าใบใหญ่ๆ)

 

(สาธุ)

 

 

สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง

ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

 

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑

 

ทานัง เทติ

การให้ทาน

 

สีลัง รักขะติ

การรักษาศีล

 

ภาวะนานัง ภาเวตตะวา

การเจริญภาวนา

 

เอกัจโจ สัคคัง คัจฉะติ

บางพวกย่อมไปสวรรค์

 

เอกัจโจ โมกขัง คัจฉะติ

บางพวกย่อมหลุดพ้น

 

นิสสังสะยัง

อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ

ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข

 

โกโธ ธัมมานัง ปะริปันโถ

ความโกรธเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งหลาย

 

โมโห โกโธ

ความหลง ความโกรธ

 

 

ปรายนา [ปะ-รา-ยะ-นา] เบื้องหน้า

(บางแห่งใช้หมายถึง พ่ายแพ้ที่สุด)

 

 

คำผญา

โมโหนี้ โกโธนี้ กิลาสาตัวหยาบ

เกิดแก่ไผมืดตื้อ บ่เห็นฮู้ฮ่อมทาง

ความโกรธมาเพม้าง จิตใจใสให้กลับมืด

ถ้ามืดมาแล้ว ประโยชน์ตนก็เลยลืม

ประโยชน์ผู้อื่นเลยบ่ฮู้ ทำลายร้างขาดกระเด็น

(ความโมโห ความโกรธนี้เป็นกิเลสตัวหยาบ

เกิดขึ้นกับใครแล้วมืดมน มองไม่เห็นทางออก

ความโกรธนั้นพาให้จิตใจเรามืด

ไม่รู้ประโยชน์ตัวเองและคนอื่น ทำลายเสียหาย)

 

อนันตริยกรรม

กรรมหนัก กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด

ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน

กรรมที่ให้ผล คือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย

มี ๕ อย่าง คือ

 

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา

๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา

๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์

๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึง

ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป

๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

 

ผู้ทำอนันตริยกรรมจะต้องตกนรก

ลงไปยังขุมนรกที่ลึกที่สุด คือ มหาขุมนรกอเวจี

 

 

 

๕ ผู้ต้องธรณีสูบในสมัยพุทธกาล

พระเทวทัต

พยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้ง

 

พระเจ้าสุปปพุทธะ

(เป็นพระราชบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธรา)

ได้พยายามกลั่นแกล้งเพื่อขวางทางที่พระพุทธเจ้า

เสด็จออกบิณฑบาต ทำให้ทรงอดพระกระยาหาร ๑ วัน

 

นางจิญจมาณวิกา

ด่าพระพุทธเจ้าด้วยคำไม่จริง

 

นันทยักษ์

ฟาดกระบองใส่ศีรษะพระสารีบุตร(ผู้เลิศทางปัญญา)

 

นันทมานพ

ด้วยการข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี(ผู้เลิศทางฤทธิ์)

 

 

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

นิทานปรัมปรา ไม่ปรากฏหลักฐานและเวลาแน่ชัด

 

ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว มีครอบครัวหนึ่ง เป็นคนยากจน

มีหญิงแก่ชื่อ นางสี (นามสมมติ) และลูกชายชื่อ นายทอง

(นามสมมติ) ทั้ง ๒ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

บิดาถึงแก่กรรมไปแล้ว ตั้งแต่นายทองยังเล็กอยู่

 

มาวันหนึ่งหน้าทำนา แม่ได้บอกกับลูก ให้ตื่นเช้าไปไถนาไว้

ก่อนแล้วสายหน่อยแม่จะเอาอาหารไปส่งให้ นึ่งข้าวเหนียว

ไว้และไปหาอาหาร กว่าจะได้อาหารก็สาย จึงรีบเดินแต่

เป็นคนแก่จึงเดินไม่เร็ว กว่าจะถึงนาก็สายโข

 

นายทองไถนาไปพลางหยุดพักไปพลาง ด้วยความเหนื่อย

และหิวข้าว เกิดโมโห เมื่อแม่มาถึง นายทองมองเห็น

ก่องข้าวนี้น้อยนักคงกินไม่อิ่ม จึงวิ่งไปที่แม่และว่า

“อีสีเอ๋ย มึงทำไมเอาข้าวมาก่องน้อยนิดเดียว กินก็จะไม่อิ่ม”

 

แม่ตอบว่า “ลูกเอ๋ย มากินข้าวเสียก่อนอย่าเพิ่งโมโหเลย

ต้อนแต้นแน่นในเด้อลูกเอ๋ย” ได้ยินเช่นนั้นนายทองยิ่งโมโห

จึงไม่ยั้งคิด ฉวยได้แอกน้อยแล้ววิ่งไปตีแม่ล้มลงจนหมดสติ

นายทองทองเปิดก่องข้าวขึ้นจะกินข้าว ได้สำนึกว่า

ตัวได้ตีแม่แล้ว จึงรีบไปดูแม่ แต่แม่เสียชีวิตแล้ว

นายทองร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เพื่อทดแทนพระคุณแม่

 

จึงบวชเป็นพระสงฆ์ปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

จนได้รับความเคารพนับถือจากชาวพุทธทั้งปวง

ในที่สุดได้ก่อธาตุบรรจุกระดูกแม่สีไว้

ดังที่ปรากฏได้เห็นมาในปัจจุบัน เกิดขึ้นที่บ้านตาดทอง

 

ในพ.ศ. ๒๔๘๒

สังฆนายก คือ สมเด็จพระมหาวีระวงค์ ติสสมหาเถร

เห็นว่าสมควรที่ยกย่องให้เกียรติบุคคลรู้สำนึกผิดเช่นนี้

จึงได้สั่งให้ทางอำเภอเมืองยโสธร จัดงานสรงน้ำ

ธาตุก่องข้าวน้อย ขณะนั้นกำนันตำบลตาดทอง

ได้รายงานอำเภอว่า ที่ธาตุนี้แต่โบราณได้มีก่องข้าวหิน

ติดอยู่ที่ยอดธาตุ ภายหลังถูกฟ้าผ่าก่องข้าวแตกสลายไป

 

นับตั้งแต่จัดให้มีการสรงน้ำและไหว้ธาตุนี้ จึงได้มี

งานสรงน้ำธาตุก่องข้าวน้อย ในเทศกาลสงกรานต์ทุกปี

แต่ภายหลังมีการอ้างว่า ธาตุก่องข้าวน้อยมีอีกแห่งหนึ่ง

อยู่ที่บ้านสะเดา ซึ่งไม่ห่างจากบ้านตาดทองนัก

 

(หนังสือ บุญบั้งไฟและพระธาตุก่องข้าวน้อย

กับชีวิตของชาวยโสธรและชาวอีสาน

โดย บำเพ็ญ ณ อุบล (๒๕๔๐) บทคัดย่อบางส่วน)

บำเพ็ญ ณ อุบล ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ปราชญ์เมืองอุบล

ถวายความรู้ แนะนำและฟื้นฟูการทำพิธีศพโบราณ

เมรุนกหัสดีลิงค์ แก่พระเถระชั้นผู้ใหญ่

 

เพลงค่าน้ำนม

ทำนอง/คำร้อง ไพบูลย์ บุตรขัน

(ได้รับขนานนาม อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับ ๑ ของไทย)

ขับร้อง ชาญ เย็นแข

 

แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล

แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่

กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเห ไปจนไกล

 

เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม

แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดจากรักลูกปักดวงใจ

เติบ โตโอ้เล็กจนใหญ่

นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม

 

ควร คิดพินิจให้ดี

ค่าน้ำนมแม่นี้ จะมีอะไรเหมาะสม

โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม

เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

 

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง

แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน

บวช เรียนพากเพียรจนสิ้น

หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย

๕๕