หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น.

ณ ห้องประชุมชั้น ๒๒

อาคารศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ

โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

 

เสียงไพเราะดีเว้ย ขอยืมเสียงหน่อยเว้ย ยืมเสียงมาแสดงธรรมนะ

ธรรมดา พวกเราเกิดมาในห้วงมหรรณพ มีอยู่ในโลกอันนี้ มีกรรมกิเลส เป็นเหตุให้ใจเศร้า ใจหมอง ใจขุ่น ใจมัว ใจสกปรก โรคร้ายเกิดขึ้นจากใจทั้งนั้น จำพวกไปประพฤติผิดในทางธรรม เรียกว่าใจสกปรก ถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดอยู่ในตัวเอง ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อยได้ นั่นเป็นของวิเศษมาก วิเศษจริงๆ ไม่มีอะไรดีเท่าพระรัตนตรัย ประเสริฐที่สุดแล้วในโลก ไม่ว่าศาสนาใดก็ถือผู้สอนศาสนานั้นอย่างเคร่งครัดเหมือนกัน ถ้าไม่ถืออย่างเคร่งครัด ก็ถือไปลวกๆ ก็ได้ผลน้อย ผลมันไม่ได้มาก ไม่ได้ความสุขใจ เพราะการถือศาสนา ถือศีล ถือธรรม ให้ได้ความสุขใจจริงๆ นั่งเป็นสุข นอนเป็นสุข ทำงานทำการอยู่ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ ไม่เผลอ ไม่หลงไปไหน รักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ตลอด

 

พุทโธ ธัมโม สังโฆ

 

นั้นเป็นที่พึ่งของเรา เราเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เอาจริงเอาจัง จนได้เกิดผลประโยชน์

มีตาคนหนึ่ง ตา น้าเขยของหลวงปู่คำดี(หลวงปู่คำดี ปภาโส) เป็นคนจริงคนจังคนหนึ่งเหมือนกัน ทำงานทางโลก ก็ไม่มีใครเทียมเท่า ขยันหมั่นเพียรก็ไม่มีใครเทียมเท่า ทำไร่ไถนาก็เก่งกว่าเขา ทำเรื่อง ทำงาน ทำการอะไรก็ ให้อยู่ในศีล ในธรรมตลอด อยู่มาวันหนึ่ง ด้วยอำนาจพุทธฤทธิ์อะไรก็ไม่รู้ เกิดเป็นแก้ว ไหลลงมาสู่บ้านเจ้าของเอง แก้ว เป็นก้อนแก้วๆ ไหลๆๆๆๆๆๆๆ ลงมาอยู่ในบ้านนั่น อ๋อ แก้วๆๆๆ พากันงมเก็บเอา จนได้เต็ม(กระ)บุงเต็มตะกร้าเพิ่นล่ะ มันเป็นเพราะอะไรถึงเป็นอย่างงี้ แล้วก็นำความไปกราบหลวงปู่คำดี(หลวงปู่คำดี ปภาโส)ให้ทราบ เออ นั่นแหละแก้ว

 

แก้วคือพระพุทธ แก้วคือพระธรรม แก้วคือพระสงฆ์

 

ที่เราถือมั่น ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ขาดตกบกพร่อง แก้วอันนั้น แก้วอันนี้ จึงดลบันดาลตกลงมาที่บ้านของเรา ให้เห็นน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราถือว่า

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 

อย่าถือเล่นๆ ถือจริงๆ เอาจนแก้วตกลงมาในบ้านของเรา เต็มบ้านเต็มช่อง

 

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ

 

อันนี้เป็นแก้ว แก้วทั้ง ๓ ดวงเนี่ยลงมาเองโดยอานุภาพ หรือว่าเทวดาบันดาลให้รู้ โมทนาในการกระทำของเรา ศีลของเราไม่ให้ขาดตกบกพร่องได้ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อยได้ ข้อไหนมันขาดตกบกพร่อง ก็ตั้งเจตนาสมาทานใหม่อยู่อย่างงั้นแหละ เอาจริงเอาจังอยู่กับการตั้งมั่นสมาทานศีลอย่างเด็ดขาด แก้วก็ปรากฏขึ้นมาให้เห็น เออ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลาย จงยึดเอาพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี่เป็นแก้วประจำใจเรา อย่าได้ขาดตกบกพร่องเลย ทุกวัน ทุกคืน ให้ระลึกถึงแก้ว ๓ ดวงนี้ พุทธรัตนะ ก็แปลว่าแก้ว ธรรมรัตนะ ก็แปลว่าแก้ว สังฆรัตนะ ก็แปลว่าแก้ว ๓ ดวง นี้เป็นของวิเศษที่สุดในศาสนาพุทธของเรา อ้าว ฟังเทศน์กันแล้วปะเนี่ยเน้อ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

อิมัสสะ ปะริยายัสสะ อัตโถ

สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

 

อันนี้ตั้งแต่โบราณกาลมา ท่านถืออย่างเคร่งครัด

 

กัมมัง

 

ก็หมายถึงการงาน การงานอะไร มันบริสุทธิ์หรือเปล่า การงานของเรา เป็นการงานที่บริสุทธิ์ยุติธรรมดีไหม เออ

 

วิชชา

 

หมายถึง อ้า ความรู้ที่ประกอบอาชีพการงานอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่า วิชชาพาตัวรอด ถ้าวิชชาเป็นทุจริต ไปเป็นโจรกรรม เป็นขโมย เป็นขโจร ไปปล้น ไปจี้เขา เรียกว่าทุจริต กรรมที่เป็นทุจริต ไม่บริสุทธิ์ ได้ของมาก็ได้ของไม่บริสุทธิ์ เอาไฟมาเผาตัวเอง ผลงานของของเรา นั้นได้มามัน มันเป็นของร้อน มาทำ มาเผาตัวเองให้เดือดร้อน แถมมา มาชวนเอาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ให้บินหนี มีปีก บินหนีเป็น ทรัพย์สมบัติมันบินหนีเป็น บินหนีไปด้วย เออ การงานที่ไม่สะอาด ได้มาที่ไม่สะอาด มันมาชวนเอาหมู่หนีไป อย่าอยู่เลย อยู่ที่นี่ มีแต่ความเดือดร้อน เขาจะเอาทรัพย์สมบัตินี่ ไปกินเหล้า ไปกินยา ไปซื้อเอาสัตว์เป็นๆ มาฆ่า อ้า ซื้อเอาสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ มาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อันนี้ก็เรียกว่ามันมาชวน มาชวนเอาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่เดิม ให้ออกหนีจากบ้านเรา จากกระเป๋าเรา ไหลหนีเทหนี กินเหล้า เมายา เล่นการพนัน อะไรต่ออะไรมันชวน มันมาชวนเอาหมู่หนีไป เป็นการงานที่ทุจริต ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มา

 

กัมมัง วิชชา

 

กัมมัง การงานที่ไม่บริสุทธิ์ เราอย่าไปยินดี ในการงานที่ไม่บริสุทธิ์นั้น งานฆ่าสัตว์ งานลักทรัพย์ งานประพฤติผิดในกาม เหล่านี้ เรียกว่ามาชักชวนความฉิบหายให้มาถึงเรา ไม่รักษาตัวเราได้ อาศัยไม่ได้ อาศัย พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ถ้าทำทุจริต ไม่บริสุทธิ์ เรียกว่ามันมาชักชวนเอาหมู่หนี เอาเงินเอาทองหนีจากกระเป๋าเรา ในครอบครัวมีอยู่มีกินก็ฝืดเคืองลง ฝืดเคืองลง ทำมาไม่มาค้าไม่ขึ้น ไม่ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนผู้อื่นเขา ผู้อื่นเขาก็ทำน้อยๆ ก็ได้มากๆ อ้า เพราะว่าเทวดาส่งเสริม เทวดาส่งเสริมอาชีพการงานของเรา เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ผุดผ่องดี

 

กัมมัง วิชชา

 

วิชชา น่ะหมายถึง ความรู้ วิชาการ การค้า การขายก็ดี การเล่าเรียนศึกษาอะไรก็เป็นวิชา ทำพา ทำมาหากินคล่องตัวขึ้นมาต้องวิชา

 

ธัมโม

 

หมายถึง ธรรมะที่เรารักษาอยู่ ธรรมะ เราลุอำนาจแก่ความโกรธหรือเปล่า ถ้าลุอำนาจแก่ความโกรธละก็ มันมาบ่อนทำลาย ความคงทนถาวร ในครอบครัวเราได้ สามีภรรยาไม่ถูกต้อง ไม่ปรองดองกัน ทะเลาะกันเช้า เย็น ฆ่ากัน ตีกัน ด่ากัน ว่ากัน ประชดประชันกันต่างๆ นานา เรียกว่าไม่มีธรรมะ ไม่มีธรรมะ ไม่มีความอด ไม่มีความข่ม กาย วาจา ใจ มันจึงพลั้ง ออกไป พลาดพลั้งไป เพราะเราไม่มีความอดกลั้นทนทาน

 

กินสมอยาก ปากสมเคียด(โกรธ) ปากสมโกรธ

ไวปากเสียศีล ไวตีนตกต้นไม้

 

เออ เฮอะ ถ้าชอบปีนชอบป่าย ไปโน้น ไปนี่ ก็ตกต้นไม้

 

ไวปากเสียศีล ไวตีนตกต้นไม้

 

ตกบ้าน ตกช่อง ตกบันได บันเดย มันพลาดล้มลงไป อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่มีสติ ไม่มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว มักพลาดพลั้งไป เพราะฉะนั้น การรักษาศีล รักษาตัวเอง ก็อันเดียวกันล่ะ รักษาศีล รักษาธรรม มันอันเดียวกันแหละ ถ้าเรามีสติทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติกำกับ รู้ตัวไว้เสมอๆ ก็เรียกว่ามีสติ ไม่เผลอสติ ไม่พลาดพลั้ง อ้า จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ เพิ่นสอนให้มีสติทุกเมื่อ ทำอะไรก็ให้มีสติ ติดตามรู้เสมอ เราจะพูดอะไร เรากรองดีแล้วหรือยัง กรองดีหรือยัง ขบคิดพินิจพิจารณาให้ละเอียดรึยัง จึงพูดออกไป ถ้าพูดด้วยความโมโหโทโส โกรธาๆ ปรายนา(พ่ายแพ้ที่สุด) ไปถึงการพ่ายแพ้แก่ศีลธรรมตัวเอง เป็นการพลาดพลั้ง พลาดพลั้ง เดินไปก็มักจะลื่น เดินไปไหน มาไหน รีบ ด้วยความรีบร้อน ก็ลื่น ลื่นแล้วก็หกล้ม หกล้มแล้วก้นกระแทกพื้น กระแทกของแข็งเข้า ก็ทำให้เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บแข้ง เจ็บขาได้

ถ้ามันพลาดพลั้งไปแล้วก็ โอ้ย เออ คิดเสียดายทีหลัง โอ้ย เราไม่น่าเผอเรอเลย ในเรื่องอย่างนี้เราไม่น่าเผอเรอ ให้เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ทำให้แข้งขาหัก แพลง ขาหัก ขาแพลงไป ทำให้เสียเวลาทำมาหากินไป เพราะเรา อะไรเผลอ พลั้งเผลอ เผลอหลงไปแล้ว ไม่มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว มักพลาดพลั้ง พอพลาดพลั้งแล้วก็เจ็บตัวเอง เอาแขนลงก่อน แขนก็อาจจะหัก เอามือไปยันพื้น อ้า ระมัดระวังไม่ทัน ถ้าแขนแพลง ขาหัก ขาแพลงไป คนเจ็บ นั่นเขาทำอะไร ทำด้วยความไม่มีสติ มันมักจะพลาดพลั้งได้ หากมีสติอยู่ทุกเมื่อ คำพูดคำจาก็ล้วนแต่เป็นคำไพเราะเสนาะโสต ไม่กระทบกระเทือนจิตใจผู้อื่นเขา ผู้อยู่ด้วยกันมันรู้กันเองหรอก อ้า มักจะพูดอย่างงั้น มักจะพูดอย่างนี้ ทำให้เผลอไปจนได้ เผลอจากคำพูดคำจาผิดพลาดไป เพราะฉะนั้น เพิ่นจึงให้มีสติรู้เท่าเอาทันเสมอ

 

ถ้ารู้ไม่เท่าเอาครั้งหนึ่ง ถ้ารู้ไม่ถึงมันเอาหมด

มันเพื่อนกันน่ะ เพื่อนกินเพื่อนกัน

เพื่อนรู้ไม่ทัน เพื่อนกันเอาไปกิน

 

เออ เพราะไอ้พวกนี้เป็นเพื่อนของเรามาตั้งแต่เกิด เออ ถ้ารู้เท่าเอาครึ่งหนึ่งซะก่อน เสียไปครึ่งหนึ่ง ถ้ารู้ไม่ถึงมันเอาหมด มันมาเป็นเพื่อนเราเฉยๆ หรอก ตีสนิทแน่นทำตัวคุ้นแก่น(คุ้นเคย) เออ เมื่อคุ้นเคยแล้วมันหักหลังเราทีหลัง เนี่ย มันมากับเรา ความผิดพลาด ความบกพร่อง มันเกิดจากเรา เมื่อพูดออกมาผิด ไม่เข้าหูผู้ฟัง เขาก็แสลงหูเขา กิริยามารยาทเหล่านี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำผิดพลาดไปนิดหน่อย มันผิดตา ผิดหู ผิดตาผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้มีความรู้สูง เพิ่นว่าไม่น่าพูดอย่างงั้นเลย ไม่น่าคิดอย่างงี้ ไม่น่าพูดอย่างนี้เพราะ ทำไมพูดไปได้ยังไง แล้วอายทีหลัง มันเสียแล้ว เสียงนั้นมันเสียแล้ว เสียงมันเสีย แล้วกิริยามารยาทก็เสียไปด้วยเหมือนกัน กิริยามารยาท ซึ่งคนอื่นมองดูแล้วรู้จัก รู้จักว่ากิริยาหยาบ กิริยาหยาบคาย วาจาหยาบคาย มารยาทไม่ดี ความเสงี่ยมเจียมตนก็เลยไม่มี แสดงท่าทางออกมาให้เขาดู เออ เรียกว่า ดูคนให้ดูหน้า ดูผ้าให้ดูเนื้อ เออ ถ้าดูหน้าดูตาน่าคบค้าสมาคม ก็คบค้าสมาคมเป็นเพื่อนกันได้ เพื่อนกินเพื่อนกันได้ แต่เพื่อนรู้ไม่ทัน เพื่อนกันเอาไปกิน แอ้ ถึงความโมโห โกรธา มันก็มากับเรา แต่ว่ามันมักจะแสดงออกหยาบๆ คายๆ ให้คนอื่นได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้ อืม แสดงว่าไม่พอใจ พูดออกมาอย่างนั้นแสดงว่าไม่พอใจ กระทบกระเทียบ เปรียบเปรยต่างๆ นานา สิ่งไหนเขาจะเจ็บใจ ก็หาเลือกเฟ้นตั้งแต่สิ่งนั้นน่ะมาพูด เออ เอาให้มันชนะ ใจเขาที่จริงแพ้เขาทั้งเพ ถ้าเราพูดไม่ดีออกมา เรียกว่าเป็นคนแพ้เขาแล้ว แพ้สังคมแล้ว ทำให้สังคมมองเราในแง่ร้าย ไม่ได้มองเราในแง่ดี ถ้าพูดและทำดีๆ มีสติ รู้ตัว รู้เท่าเอาทันอยู่เสมอ คำที่จะกระทบกระเทือนผู้อื่น ไม่ให้มันพูดออกมาได้ เออ

ถ้ามันเพลี่ยงพล้ำออกมาได้ ไม่มีคำกระทบกระเทือนให้ผู้อื่นเจ็บใจไม่มี เรารักษากาย วาจา ใจเราไว้ อยู่ในขอบข่ายของศีลธรรมเสมอๆ เราก็เป็นคนดีในสังคม สังคมก็มองเราอยู่ เป็น คนน่ารัก น่านับถือ น่าบูชา เออ เป็นคนรู้เท่าเอาทันอยู่เสมอ ไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อนกินน่ะ เพื่อนกัน แต่เพื่อนรู้ไม่ทัน เพื่อนกันเอาไปกิน เออ ถ้ารู้ไม่เท่า ถ้ารู้เท่าเอาครึ่งหนึ่ง ถ้ารู้ไม่ถึงมันเอาหมด เป็นโมโหโกรธา เพิ่นเอาหมด วาจาที่แสดงออกมา เป็นเสียง กิริยามารยาทก็แสดงไปด้วย แอ้ ทำลาย คุณงามความดีเราไปได้ในตัว เราก็ต้องระมัดระวัง ถ้าจะปฏิบัติธรรมกันจริงๆ ให้รู้ตัวไว้ ให้รู้เท่าเอาทัน อย่าไปด่ากัน ว่ากัน ต่อธาร... อืม ต่อหน้าธารกํานัล ผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านฟังแล้วไม่รื่นหู ไม่สบายใจ ถ้าเห็นเขาทะเลาะกันแล้ว เราไม่สบายใจ ผู้ฟังไม่สบายใจ ดังนี้เป็นตัวอย่าง แล้วมองเห็นอกเขาอกเราก็เหมือนกัน หัวอกคนอื่นก็เหมือนกันกับเรา ถ้าเราไปกระทบกระเทือนจิตใจเขา เขาก็แป้วใจอยู่อย่างงั้น ไม่รู้จักน่ะหนา ว่าแล้วจะกลับคืนมาได้ จะมาหวานจ๋อยอีกเหมือนเดิม เขายาก เขาว่ายาก เพราะความโมโหมันพาไปแล้ว ความโกรธ ความโลภ ความหลง หลง มันมืด ความหลงน่ะมันมืด มันไม่สว่าง ถ้าความไม่หลงล่ะเป็นใจสว่างอยู่ ใจรู้ตัวอยู่ รู้ยืน เดิน นั่ง นอน กิริยามารยาทจะแสดงออกมา ไม่กระทบกระเทือนจิตใจผู้อื่นนั้น ระวัง อย่าให้มันเป็นอย่างงั้น เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด

 

กัมมัง วิชชา ธัมโม

 

แน่ะ ธัมโม

 

สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

 

แอ้ เพิ่นบอกไว้

 

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

 

อันนี้เครื่องประกับ กับข้อปฏิบัติของเราให้มันได้ทุกวี่ทุกวัน อันนี้โดยย่อ ไม่ต้องพูดมาก พูดโดยมากข้อวัตรปฏิบัติของเรา มันเป็นธรรมหรือเปล่า หรือมันเป็นเผต(เปรต)เป็นผีไปแล้ว ฮะ คำว่า ดุด่า ป้อย(ด่า)แช่ง แบ่งเวรซึ่งกันและกัน ซ้ำ ซ้ำเติมกันเหมือนกันเหล่านี้ มันเป็นของเอามาใช้ในสังคมหรือเปล่า

 

ห่ากินหัวมึงเอย ผีกินหัวมึงเอย

ต้มตับ ต้มไต ต้มไส้ ต้มพุง

 

ด่ากันไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ลูกหลานมันจึงไม่มีปัญญา เพราะว่าพ่อแม่ ผู้นำพาเขาว่า พาเขาด่ากัน พ่อกับแม่ทะเลาะกันให้เราดูเหล่านี้ ก็ยึดเอามา ให้มีความละอายในใจบ้าง ว่าพลั้งไปแล้วก็ ขอโทษๆ ขอโทษเถอะมันพลาดไป มันไม่อยู่ ไม่ได้ ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของศีลธรรม มันพลั้งเผลอไปเป็นบางคำ แล้วขอโทษทันที ขอโทษ พูดเผลอไป สติตามไม่ทันเพราะความโมโหมันเกิดขึ้น มืด มันมืดมิดปิดปัญญา ไม่มีความเฉลียว ไม่มีความฉลาด อ้า ไม่มีความสามารถ รักษากาย วาจา ใจของตน ให้อยู่ในขอบข่ายของศีลธรรมจริงๆ อันนี้ขอเตือนทุกคน ทุกคนก็มีครอบมีครัว มีผู้รับผิดชอบ ร่วมงานร่วมการกัน หากไปกระทบกระเทือนให้เขาเสียอกเสียใจ ให้รีบขอโทษทันที

 

ขอโทษเถอะ ขอโทษเถอะ

อโหสิเด้อ ให้อภัยเน้อ

 

เออ อย่าไปถือสาหาความกันเลย ให้หายโกรธในเวลานั้น พลาดพลั้ง นึกว่าเขาจะเสียใจในคำพูดคำนี้ เราไม่พูดอีกต่อไป นี่เรียกว่า สังวรระวังปาก

ไวปากเสียศีล ไวตีนตกต้นไม้

 

หึหึ เออ ไวตีนตกต้นไม้ ก็คือปีนป่าย ชอบปีนชอบป่ายขึ้นต้นไม้ ต้น ผลไม้ ผล.. หมากรากไม้ก็ไม่มีก็ ปีนป่ายขึ้นไปๆ แต่มันพลาดเป็นยังไงล่ะปะเนี่ย มือมันอาจจะพลาดได้ ขามันอาจจะพลาดได้ ถ้าพลาดไปก็เรียกว่าตกต้นไม้ ตกต้นไม้แล้วใครเป็นคนเจ็บ ตัวของเราเองเนี่ยเป็นคนเจ็บ เจ็บขา เจ็บเอว เจ็บทุกส่วนนั่นล่ะ อะไรมันกระแทกของแข็งๆ เข้า ก็เกิดเจ็บขึ้นมาทันที เคล็ด เขาเรียกว่า เคล็ดขัดยอก อ้า เจ็บหลัง เจ็บเอว ไปลื่นล้มตรงนั้น ตรงนี้ ไม่ระวัง ระวังเนื้อระวังตัว ก็เลยพลาด พลาดกันว่าถึงขาแพลงไปก็มี เอาแขนลงค้ำพื้น แขนก็คดไป เจ๊งไป อืม ให้ระมัดระวัง กาย วาจา ใจของตนอยู่ในขอบข่ายของศีลธรรมไว้เสมอๆ รู้อยู่ทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน เอาสติมาไว้กับเนื้อกับตัวเสมอ ก็เป็นคนไม่ผิด ไม่พลาด ไม่เผลอ ไม่หลงอะไร เป็นคนมีสติอยู่ทุกเมื่อ ก็งามมาก

ธรรมมันทำคนให้งาม มีสติสัมปชัญญะ เออ ทำคนให้งาม รู้เท่าเอาทัน คำพูดคำจามันก็ออกจากเราทั้งนั้นแหละ ถ้าให้มันผิดศีล ผิดธรรม อย่าเอามาพูด อย่าเอามากระทบกระเทือนให้เจ็บใจของผู้อื่นเขา รักษากาย

 

ฮักษา(รักษา) ๓ ปลาย มันจึงหาย ๓ โทษ เออ

ถ้าไม่รักษา ๓ ปลาย มันก็ไม่หาย ๓ โทษ

 

โทษ เกิดขึ้นมามันเป็นโทษแก่ตัวเอง สำหรับผู้พูด พูดหยาบๆ คายๆ มา ความหยาบๆ คายๆ มา ก็ไม่มีใครต้องการอยากฟัง อยากได้ยิน ได้ฟัง เพราะว่ารสไม่ไพเราะเสนาะโสต ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้ฟัง อะไรที่แสลงตาทั้งกิริยามารยาทอย่างนี้ๆ ก็แสลงตา คนอื่นพูด เขามองเห็น ทำถลึงทะเลาะกัน ทำตาถลึงบึ้งตึง บึ้งตึงถลึงตาใส่กัน เออ แสลงตาแล้วมันไม่กินเส้นกันเลยล่ะ แสลงตา ไม่ความจงรักภักดีต่อกันล่ะ แล้วก็ตาเขียว ปากก็ไม่อยู่ปกติ เบี้ยวบูดไป ทั้งทางหน้าตา นั่นเรียกว่า ส่งใจออกจากร่าง จากกายตัวเอง ทำให้ผู้อื่นดูเรา เป็นของไม่สวย ไม่งามขึ้นมา แต่งตัวก็อยากให้สวย ให้งาม เขียนคิ้ว ทาปาก เออ ให้สวย ให้งามไว้เสมอ เออ ให้มีสีปากให้เสมอ แต่ว่าไปปากร้ายขึ้นมาอย่างงั้นจะเป็นยังไง ทาลิปสติก(lipstick เครื่องสำอางทาริมฝีปาก)ปากแดงๆ แล้วก็ด่ากันแล้ว โอ้ย ไม่เห็นงามตรงไหนเลย หน้าตาเบิกบาน เอิบอิ่ม มองแล้วเย็นตา เย็นใจ ถ้าไปเห็นกิริยามารยาทอย่างนั้น ก็แสดง แสลงใจเรา

อ้า เขาแสดงกิริยามารยาทอย่างนั้นใส่เรา เราก็ไม่พอใจเหมือนกัน แน่ะ ให้เราเอา... รักษาตา รักษาหู รักษาปาก รักษา ๓ กาย มันจึงหาย ๓ โทษ อย่าให้มีความกินแหนงแคลงใจ ซึ่งกันและกันเลย อ่ะ เนี่ย

กัมมัง วิชชา ธัมโม สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

 

เอามารักษาตัวเองให้ได้ ให้มันอยู่ในสนับบังคับของเรา ว่าเป็นผู้จำศีล ภาวนา เรื่องประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขอบข่ายของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าออกจากของเหล่านี้ ไปแล้ว เป็นผิดศีล ผิดธรรมกันไปทั้งนั้น กิริยาท่าทาง คำพูดคำจา ความเคารพนบนอบเหล่านั้น พังทลายไปตามๆ กัน กิริยามารยาททราม เสียไปเลยน่ะ หึ เสียคนไปเลย ถ้ามันเสียแล้วเอาคืนได้ไหม เอาคืนไม่ได้หรอก เออ ของเน่า ของเหม็นแล้ว เอามา กลับมาไม่ได้ เหมือนน้ำลายอยู่ในปากเรา เราบ้วนไปแล้ว ไอแตกโพละ อืม แตกโพละ อืม ขี้เสลดมันมาขึ้นคอ ถ้าหากออกไปบ้วนลงไป ลงในดินแล้วจะเอาขึ้นมาอมอีกได้ไหม เอาขึ้นมาอมอยู่ในปาก เช่น ในปากกลืนน้ำลายก็ได้ กินอะไรก็อร่อยดี ถ้าบ้วนออกไปถึงพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสม แล้วเอาขึ้นมาในปากอีก ก็ขยะแขยง ขยะแขยงจะอ้วกให้ออกให้ได้

อันนี้ พระพุทธเจ้า เพิ่นบวชเข้ามาแล้วไปบิณฑบาต เออ บวชเข้ามาแล้วมาเที่ยวบิณฑบาต ชาวบ้านชาวเมืองเขาก็เอาอาหารทุกอย่างมาใส่บาตรให้ มีทั้งหวาน มีทั้งคาว มีทั้งแกง มีทั้งป่น(น้ำพริก) ทั้งน้ำพริก ทั้งอะไร ผักอางนางหญ้า ลงไปในบาตร เพิ่นไปนั่งพิจารณาอาหารในบาตร โอ้ มันกลืนไม่ได้ จะเคี้ยวยังไง จะกลืนยังไง เออ แต่ก่อนเราอยู่ในรั้วในวัง กินแต่ของละเอียด ประณีต เออ สะอาด ภาชนะก็สะอาด อะไรก็สะอาดหมดทุกอย่าง ที่นั่ง ที่นอนก็สะอาด บัดนี้เราบวชเข้ามาแล้วอย่างนี้ บิณฑบาตชาวบ้านเขา เขาก็เอาของทุกสิ่งทุกอย่างมาใส่บาตรให้ มีทุกอย่าง เออ ผลไม้ก็มีทุกอย่าง เขาก็ใส่บาตร ปนๆ เปกันทั้งอาหารการกิน ปนเปกันแล้ว มานั่งพิจารณาขยะแขยงตัวเองอยู่ กินไม่ลง กลืนไม่ลงแล้ว

เพิ่นก็เลยถามว่า เอ้ย สิทธัตถะ เจ้าเหรอ จะเป็นนักบวช เจ้าจะเป็นคนเลี้ยงง่ายอยู่อย่างนี้หรือ เจ้าเป็นนักบวช นักบวชก็ต้องเสียสละ ความอร่อย ความประณีต ทุกอย่างนั้นล่ะ ให้กินอะไรกินได้ เขากินยังไง เขากินได้ เราก็กินได้ เขานุ่งยังไง เขาถือยังไง เขาก็ถือกันอยู่อย่างงั้น ชาวไร่ ชาวนา เขาก็ทำกันอยู่อย่างงั้น น้ำไม่อาบ เขาก็ล้างแต่มือหน่อยเดียว เขากินข้าวได้ กินเข้า เอาเข้าไป บ้วนๆ ไม่นึกขยะแขยงตัวเอง ชาวไร่ ชาวนา เขาเป็นอย่างงั้น เราจะมาถือความประณีตของเราเป็นกษัตริย์อยู่อย่างเดิม เราเป็นนักบวชแบบไหน ด่าตัวเอง นักบวชแบบเลี้ยงยาก อย่างนี้จะเป็นนักบวชได้ยังไง ต่อแต่นั้นเพิ่นก็ฉัน ฉันอาหารได้ ไม่ขยะ ไม่แขยงตัวเองเลย จะมีแกง มีป่น(น้ำพริก) มี เออ เผ็ด มัน หวานๆ เค็มอะไรก็แล้วแต่ มันลงแห่งเดียวกัน เออ ถ้ามีช้อนก็เอาช้อนตักเอา ถ้าไม่มีช้อนก็เอามือขยุ้มใส่ปากเอา แน่ะ เขากินกันอย่างงั้นได้ ชาวไร่ ชาวนา เขากินกันอย่างงั้นแหละ เรามาเป็นนักบวชแค่นี้ เราจะมาขยะแขยงในเรื่องกินอยู่เหรอ ถ้าอย่างงั้นก็เป็นคนเลี้ยงยาก

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของเราตถาคต เออ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักมากก็ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของเราตถาคต มีน้อยกินน้อย เออ กินยังไงก็กินได้ เลี้ยงง่ายขึ้นมา เขาเอาอะไรมาให้กินหมดทุกอย่างนั้นล่ะ อย่าไปขยะแขยงมัน กินลงไปในท้อง มันไปอยู่ที่ไหน มันไปรวมอยู่ในกระเพาะเดียวกัน ทั้งหวาน ทั้งคาว ผลหมากรากไม้ มะม่วง กล้วย ผลหมากรากไม้ทุกชนิด กินลงไปอยู่ในท้อง มันแบ่งกันอยู่เหรอ มันไปรวมอยู่ในกระเพาะแห่งเดียว เพิ่นก็หาเรื่องมาทรมานตัวเองอย่างงั้น ต่อแต่นั่นก็เป็นคนเลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย สบาย ถ้าไปมักมากในการกิน ไม่ละเอียดกินไม่ได้ หาเรื่องกินแต่ของละเอียดๆ ก็เป็นคนเลี้ยงยากอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มีข้อเปรียบอันนี้ พวกเราเป็นชาวพุทธก็ให้ระมัดระวังเอาไว้ มันจะขยะแขยงในเมื่ออาหารไม่ถูกปาก เกิดขยะแขยงขึ้นมา มันจะอ้วกแตกให้ได้ อ้า เรียกว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของเราตถาคต ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย นั่งง่าย ธรรมเหล่านั้นจึงเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของเราตถาคต เออ ก็เลยถือเอาความสันโดษแบบนี้ ขึ้นมาบริหารศาสนา เผยแพร่มาจนเท่าทุกวันนี้ล่ะ ฉันมื้อเดียว ฉันหนเดียว ภาชนะใบเดียว อ้า อยู่กินได้ ไม่ต้องมีหลายถ้วย หลายจาน หลายภาชนะหรอก เอารวมๆๆ ลงในนั้น ขยุ้มๆ กินเลย มือ ไม่มีช้อนก็มือแหละ ขยุ้มๆ กินเลย เออ เช็ดเอา ล้างเอามือ อ้า อันนี้รวมครบแล้วการอยู่ มีชีวิตอยู่รอดได้เพราะเป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นคนประพฤติตนสันโดษ มักน้อย ไม่มักมากอย่างงั้นล่ะ ถึงอยู่ได้ ไปอยู่ไหนอยู่ได้ เขากินยังไงก็กินได้ ไม่ต้องตำหนิเขา เออ เว้นไว้แต่กินอิ่มแล้ว ไปให้บังคับให้กินอีก มันกินไม่ได้แล้วปะเนี่ย กินอิ่มแล้ว อิ่มแล้ว บังคับให้กินให้ได้ ฉันไม่ได้ โอ้ย มันกลืนไม่ลง มันเป็นยังไงมันกลืนไม่ลง มันอิ่มแล้ว ฮะเฮอะฮึ เอาล่ะพอแล้ว มื้อนี้พอแล้ว อย่างงั้น

ถ้าถือธุดงควัตรเข้า ก็ต้องมื้อเดียวจริงๆ ไม่ต้องเอา ๒ เวลา ถ้าไม่ถือธุดงควัตร มียังไงกินอย่างงั้นมา ในเวลา เวลานั้น เวลาไม่วิกาล ตะวันบ่ายไปแล้วกินอะไรไม่ได้อีกแล้ว เว้นไว้ตั้งแต่ (มะ)ขามป้อม สมอ เป็นยาปรมัตถ์ เออ กินให้ได้ น้ำอัดลม น้ำอะไรเหล่านั้นก็กินได้ เออ มันมาในเวลาวิกาล

กินได้ก่อนเที่ยง ถ้าเลยเที่ยงไปแล้ว แม้แต่นม โอวัลติน เออ อะไรเหล่านั้น ของประณีตขึ้นไปกินไม่ได้ เลยเที่ยงแล้วกินไม่ได้ ถ้าเขาเอามาประเคน ก็เอาวางไว้นั่นก่อน วางไว้นั่นก่อน พรุ่งนี้เช้าหรือวันต่อๆ ไปเข้า เณรจะจัดการ หรือญาติโยมมา ให้ญาติโยมมาประเคนให้ใหม่ อันนั้นอย่ารับประเคนข้ามคืนข้ามวัน ถ้ารับประเคนข้ามคืนข้ามวัน

สันนิธิการะกัง ฯ

อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา

 

เฮอะๆ เพิ่นบอกของข้ามคืนข้ามวัน มันเป็นสันนิธิ(การสะสม) เออ เนี่ยรับประเคนข้ามคืนข้ามวัน ผลหมากรากไม้ ก็เหมือนกัน ของที่เพิ่นฉันตอนบ่ายได้ (มะ)ขามป้อม สมอ ผลไม้บางอย่าง นอกกว่านั้นก็คั้นเอาแต่น้ำมัน อ้า มาฉัน ตอนบ่ายมาแล้ว คั้นเอาแต่น้ำมัน ผสมเกลือ ผสมน้ำตาลเข้า เออ ก็ฉันได้ เป็นอย่างงั้น หัดเป็นคนเลี้ยงง่าย อย่าเป็นคนเลี้ยงยาก ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยากไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของเราตถาคต ก็เพิ่นว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย เลี้ยงง่าย อยู่น้อย กินน้อย มียังไงกินอย่างงั้น ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งคำสอนของเราตถาคต เพราะฉะนั้น เป็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก็ปฏิบัติเหมือนกันหมด

นั้นก็กิน อันนี้ก็กิน อยากกินนมเวลาไหนก็กิน ตอนบ่ายก็กิน อยากกินนมโอวัลตินก็กิน ตอนบ่ายก็กิน อยากกินอะไรๆ ที่มันอร่อยๆ ก็อยากกิน เหล่านี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของเราตถาคต พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ไม่ใช่ลูกศิษย์เราตถาคต เออ ลูกศิษย์ตถาคตต้องเป็นคนเลี้ยงง่าย ดังนี้เป็นตัวอย่าง

ที่แสดงมาเป็น ปกิณณกนัย เพื่อต้องการให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย นำไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนๆ เองเถิด อัปปมาทธรรม ไม่มีความประมาท ตั้งอกตั้งใจ ทำกาย วาจา ใจของตนอยู่ในขอบข่ายของศีลธรรมจริงจัง ก็เป็นคนสบาย สบายด้วยการอยู่ การพัก การอยู่ การกิน สบายไปหมดทุกอย่าง เว้นไว้แต่ของที่มันแสลงโรค ของแสลงโรคมันอาจกินเข้าไป แล้วอาจเป็นพิษ เป็นภัยแก่ร่างกาย ทำให้กระอักกระอ่วน ชวนฮาก(อาเจียน)แตกออกมา หึหึ เหล่านั้นก็ของมันผิด ของมันแสลงเราแล้ว เราอย่าไปฝืนกิน

เราไม่กินเหล้ามาตั้งแต่วันบวชมา ถ้าเราไปกินเหล้า กินเหล้าเมายามา มันจะฮาก(อาเจียน)ออกให้หมดซะก่อน มันถึงจะกินอย่างอื่นได้ ฮาก(อาเจียน)แตกออกมา อ้วกออกมา อืม มันไม่รับ ร่างกายมันไม่รับ เพราะมันเป็นคนเลี้ยงยากไป เพราะฉะนั้น ก็ขอฝากความคิด ปกิณณกะ ทั้งหลายเหล่านี้ ให้ญาติโยมช่วย ระมัดระวัง ประคับประคองเอาเอง

ดังที่แสดงมาเป็น ปกิณณกนัย เพื่อต้องการให้ท่านทั้งหลาย นำไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนๆ เองเถิด อัปปมาทธรรม ไม่มีความประมาท ตั้งอกตั้งใจ เป็นคนเลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย มักน้อย อยู่อย่างนี้ก็ กิเลสก็จะเบาบางไป ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้มันเบาบางไปจากเรา ดังที่แสดงมา ก็ยุติด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

(สาธุ สาธุ สาธุ)

 

กัมมัง วิชชา จะ ธัมโม จะ สีลัง ชีวิตะมุตตะมัง

การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑

 

 

สันนิธิการะกัง ฯ

เป็นสันนิธิ

ของเคี้ยวของฉันที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ค้างคืนเพื่อจะฉัน

ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุฉันของนั้น เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน

(สิกขาบทที่ ๘ แห่งโภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

 

อันตะระฆะเร นิสีทิสสามีติ สิกขา กะระณียา

พึงทำศึกษาว่า อันว่าเราจักนั่งในระหว่างเรือน

(เสขิยวัตร ๗๕)

 

รัตนะ แก้วหรือสิ่งประเสริฐ ๓ ประการ คือ

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ

 

ปรายนา [ปะ-รา-ยะ-นา] เบื้องหน้า

(บางแห่งใช้หมายถึง พ่ายแพ้ที่สุด)

 

คำผญา

ฮักษา(รักษา) ๓ ปลาย มันจึงหาย ๓ โทษ

(ให้เรารักษา กาย วาจา ใจ ของเราไว้ให้ดี

เพราะถ้าเรารักษาให้อยู่ในศีลในธรรมนั้น มันก็จะไม่เป็นโทษ)

 

๖๕