หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๐๐ น.
ณ หมู่บ้านพฤกษ์ภิรมย์ รีเจนท์
(อาราธนาศีล)
จะกล่าวกันเข้าผ่านคำแปล ก็ได้ใจความ บางคนหนึ่ง รับศีลยังไม่ยอมจบเลย ข้อ
ปาณาติปาตา เวระมะณี
(หลวงปู่ตบแขนให้ดู เสียงดังแปะ)
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ตายแล้วยุง ตัว ๑ ๒ ตัว ถ้าว่าครบ ๓ ตัว ๔ ตัว ตายไป ๓ ๔ ตัว
ปาณาติปาตา เวระมะณี
จะเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด ทั้งอยู่ในน้ำก็ดี บนบกก็ดีเราไม่ฆ่าเป็นอันขาด แต่ว่าอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เจริญแล้วอย่างงี้ได้กระเป๋า ได้ตะกร้า ถ้าเราไปตลาด เขาฆ่าไว้ให้แล้ว กองเอ้เต(ปล่อยตัวตามสบาย มีท่าสง่าผ่าเผย)อยู่ ทั้งกบ ทั้งเขียด ทั้งปู ทั้งหลายทุกอย่างล่ะ ปลาที่มันไต่เป็น ยั้วเยี้ยๆ มันก็ไต่อยู่ อย่างนั้น อย่าไปแหยม อย่างนั้นเขาไม่ได้ตาย ให้เขาตายแช่เย็นไว้นั้นเป็นการดี เอาไป เอาตัวที่ตายแล้วมาทำอาหาร เลี้ยงชีวิตและครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงหลานต่อไป ไม่ผิดศีลธรรม ถ้าว่าไปชี้เอา ตัวเนี่ยแหละๆๆ เนี่ยเอาตัวเนี่ยแหละ ทุบหัวให้หน่อยๆ มันวิ่งอยู่ในน้ำ เอาตัวเนี่ยแหละ ตัวใหญ่ๆ ล่ะ ราคาเท่าไหร่ไม่ต่อ ก็จับกันไว้ ทุบหัว ตายแล้ว จึงเอามาขายให้เรา อย่างนี้จะเป็นศีล เป็นธรรมหรือเปล่า ไม่เป็นศีลธรรม ถ้าเป็นศีลธรรมแล้ว ของที่มันดิ้นเป็นอยู่ มันเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ ไม่กล้าฆ่าเขาหรอก ว่ายน้ำ ได้สบาย สนุกสนานมันอยู่ ไม่กล้าจะฆ่าสัตว์ทุกอย่าง เป็ดไก่เหมือนกัน หมูเหมือนกัน สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ไม่สามารถจะฆ่าเขาได้ อย่างนั้นเขาเรียกว่าศีล แปลว่า เลิก เว้น งด ละ เอาจริงๆ จังๆ ทั้งด้วยเจตนาในใจเป็นอย่างงั้น แล้วก็หัวใจรับว่าเป็นศีล หัวใจเราก็เป็นธรรมขึ้นมา ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่บกพร่อง ไม่ขาดตกบกพร่อง ฆ่ายุง ฆ่ามด ฆ่าปลวก ตายไปแล้ว จึงว่า
ปาณาติปาตา เวระมะณี
อย่างนี้ มันจะถูกต้องไหม ไม่ถูกต้อง ต้องให้เขาตายโดยเจตนานั้น ไม่มีเจตนาอย่างนั้น พวกงู พวกตะขาบ แมงป่องมามันเข้าในนี้ ก็อย่าไปฆ่ามัน เห็นว่ามันเป็นภัย ก็จับได้เอาไปปล่อยที่อื่น นั่นน่ะเรียกว่า
โลโก ปัตถัมภิกา เมตตา
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ให้มีชีวิตอยู่รอดไปได้ สัตว์ทุกจำพวกไม่ต้องการเบียดเบียน เป็นงูก็ดี เป็นตะขาบ แมงป่องก็ดี ที่มันเป็นพิษเป็นภัย ถ้าจับได้เอาไปปล่อยที่อื่น เอาไว้ที่นี่ จะมาต่อยลูก กัดลูก กัดหลานเรา เอาไปที่อื่นที่ปลอดภัยไว้ล่ะ สวนสัตว์ที่ไหนมี เขารับเลี้ยงกัน เอาไปปล่อยที่โน้นแหละ ที่ปลอดภัย นั่นเรียกว่า
เวระมะณี
เว้นจากการฆ่าสัตว์จริงๆ ด้วยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม เว้นจริงๆ เว้นให้ได้ ทุกสิกขาบท ที่ ๕ ทั้ง ๕ ข้อ เราสมาทานตั้งมั่นได้ เราก็เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์สะอาด ไม่ได้ฆ่าสัตว์ พระเจ้าพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้าไปแกล้งทำให้ ยุงตายสักตัวหนึ่งก็เป็นโทษ
ปาจิตเตียง(ติ-ยัง) เออน่ะ ปาจิตติยัง
เออน่ะ แต่ในพระปาฏิโมกข์ เพิ่นว่า นิสสัคคิยปาจิตติยังเออ เว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิดได้ นั่นมันจึงเป็นศีล เป็นธรรมแท้ เว้นจากลักทรัพย์สมบัติของผู้อื่น แม้นมาตกอยู่ในบ้านเรา ก็อย่าให้ของเขานั่นหายเลย เออ เขามาทวงเวลาไหน เอามาให้เขาเวลานั่น เพิ่นลืมกระเป๋าอยู่ที่นี่ ลืมเงินอยู่ที่นี่ เท่าไหร่ๆ ให้ของเขาเสียหาย ไม่มีอทินนาทานแต่อย่างใด ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรมด้วย รักษาสมบัติของผู้อื่น เว้นดังสมบัติของเจ้าของ เป็นเงินก็ดี เป็นทองก็ดี แก้วแหวนเงินทอง ของมีค่าราคา ถ้ามันตกอยู่ในบ้านเรา ก็ถือๆ ว่าโชคดี ไม่ใช่อย่างนั้น ของนี้ ของเขาลืม เราเก็บตกไว้ ก็ชื่อว่าของเขาบริสุทธิ์อยู่
นางวิสาขามหาอุบาสิกา ไปลืมของอยู่กับพระอานนท์ แล้วก็ไปนำเอาคืนมา แต่เธอไม่ต้องรับเหรอ พระคุณเจ้าเป็นคนเก็บไว้ให้ ไม่ใช่อย่างงั้น เราลืมกระเป๋า เราลืมทรัพย์สมบัติอยู่ที่นั่น ถวายพระคุณเจ้าเป็น มอบพระคุณเจ้าไป ไม่ใช่อย่างงั้น ท่านไม่ได้เอา ท่านส่งคืน เออ พระอานนท์ว่ามา ว่า ว่าเอานี่ลืมไว้นี่ ลืมไว้นี่ๆ ก็วางไว้นี่ เออ
มหาลดาปสาธน์
ราคาสูงเท่าไหร่ นางวิสาขาก็เอาไว้แล้ว เวลานั้นมาบ้าน ไม่เห็นแหละ มหาลดาปสาธน์เลย ยังว่าลืมอยู่ที่โน้น ไปถามว่าพอดีพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าก็เก็บไว้ให้อย่างดี ก็แล้วทำไมไม่ถวายท่านเลยล่ะ ก็จะเอามาทำไมล่ะ เพราะมันลืมแล้ว เอ้า เพิ่นบังคับให้เราเอามา ไม่เอาไป มันก็ไม่ดีอีก ไม่ ของไม่บริสุทธิ์ ของลืม แล้วก็หายเลย ถือว่าโชคดีเจ้าของ อย่างนั้นผิดศีล ผิดธรรมเหมือนกัน นางวิสาขาเพิ่นก็ไม่ยอมรับของคืน เอาอยู่แต่เอาด้วยดุษฎียภาพ นิ่ง เออ ถ้างั้นเอาไว้นี่ เราจะไปสร้างวัดจะเอาอันนี้ไปขาย ของเหล่านี้ เอาไปขายแล้วได้เงินเท่าไหร่ จะไปสร้างวัดบุพพาราม ถวายพระบรมศาสดาให้ได้ เออ ก็เลยเอาไปขาย มหาลดาปสาธน์นั่นน่ะ ราคาเป็นหลายร้อยล้าน เออ เป็นหลายพันล้านพู้น(โน้น)ล่ะ มหาลดาปสาธน์ ของประดับใส่คอนี้ หรือหน้าผาก เหล่านี้มีตั้งแต่ แก้วแหวนเงินทองทั้งนั้น จึงได้นำเอามหาลดาปสาธน์ อันของมีค่าราคาสูง คนในประเทศอินเดียเท่านั้นมี ๓ คนเท่านั้น ที่มีมหาลดาปสาธน์ประดับตัวเอง นางวิสาขาคนหนึ่ง ก็ภรร... ภรรยาของท่านเสนาบดีคนหนึ่ง และนางอะไรอีกที่มีๆ มหาลดาปสาธน์ราคาเป็นแสน อืม มันมี ๓ คนอยู่ในประเทศอินเดีย ที่มีมหาลดาปสาธน์เป็นสมบัติของตัวเอง แต่นางวิสาขาเนี่ย ไปท้วงได้จากพระคุณเจ้าคืนมาแล้ว ไม่ได้รับเลย รับมาก็รับมาไว้ อยู่ในดุลยพินิจของตัวเอง อะไรที่คิดให้มันเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา จะเอามหาลดาปสาธน์นั่นไปขาย เอาขายทั้งบ้านทั้งเมือง ก็ไม่มีใครรับซื้อได้สักคน มันราคาเป็นล้านๆ ก็เอาเงินของตัวออกเอง มหาลดาปสาธน์ไม่มีขาย เอาเงินของตัวเองนี่แหละ อยู่ในกระเป๋านี่แหละ เอาเงินออกก่อสร้างวัดอะไร อ่ะ สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า ให้ท่านได้อยู่สบาย สร้างหมด ๘๐ โกฏิ ๙๐ โกฏิ สร้างวัดน่ะ เพิ่นเอาเงินในกระเป๋าเจ้าของเอง ออกเอง ไม่ได้ขายมหาลดาปสาธน์ดังกล่าวนั้นเลย นั่นเป็นผู้ที่เสียสละจริงๆ
เออ เมื่อเสร็จแล้วก็ฉลอง เวลาฉลองนั่นน่ะ มีมหรสพ มีกลองยาว มีอะไร มีเพลงดนตรี มโหรี ตีเป่า พอได้ยืก(กระตุก)กัน นางวิสาขาก็ทนไม่ไหว มันออกอึก... อึกทึก ครึกโครม เหลือเกิน ก็เลยฟ้อนรำกับเขาไปบ้าง อ้า อาจจะผิดศีลบ้าง ฟ้อนรำ ทำเพลง ไปกับเขา สนุกสนานแห่แหน เวลาถวายมหาลดาปสาธน์ เวลาถวายวิหาร วัด นั่นแล้ว วัดอะไร วัดบุพพาราม หรือวัดหยังก็ เนี่ยล่ะ ให้เรียกว่า
เสียสละจริงๆ ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
เฮอะ อ้า อันนี้เราเคยเอามาเทศน์สลับเหมือนกัน เอามาสลับเทศน์ เพราะไปขึ้นอยู่บนภูเขาอ่ะ
บนภูเขาคำหวายยาง(วัดป่าคีรีวัน) ทางโน่นเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านกุยกอกเพิ่นอ่ะเนาะ(นะ) เขาตีกลองทั้งวันทั้งคืน
ป๊ะโท่นๆ โท่น ป๊ะโท่นๆ
อยู่อย่างงั้นแหละ เขารำวงกัน แต่ว่าเสียงก้องมันดังสะท้อนขึ้นบนภูเขา เอ๊ะ รำคาญนอนไม่หลับ ก็เปลี่ยนเสียงกลองซะสิ เราจะไปยึดอะไร เอามาฟังไว้ในหู จะเปลี่ยนเป็นอะไร เราก็เปลี่ยนเสียงกลองนั้นให้เป็น
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
เออ อันนี้ เอาอันนี้แหละ ให้มันเสียงพ้องกัน ได้เป็นเสียง
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
ให้มันดังอยู่ในหู ดังอยู่ในหูเราไม่รำคาญ ก็เพราะไปดังอยู่ในหัวใจเรา เออ เฮอะๆ สบาย เดินก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย เพราะว่าเสียงมัน มันมาดังในหัวใจ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
อยู่อย่างงั้นแหละ แต่มันไม่เป็นเสียง
ป๊ะโท่นๆ โท่น ป๊ะโท่นๆ
ไม่เป็นเสียงนั่น เป็นธรรมอยู่ในหัวใจเรา เอามา ดึงมาเป็นอารมณ์ภาวนา ก็เลยใจสงบ เออ ใจสงบ ก็เลยไม่ได้หลับหรอก มันสว่างแล้วก็ลงจากภูเขาลงมาหาหมู่ แล้วก็ออกบิณฑบาตเลย บิณฑบาตเสร็จ เอาบริกรรมไว้อย่างงั้นแหละ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
ไปอยู่อย่างงั้นแหละหัวใจ เดินบิณฑบาตอยู่ ก็อยู่อย่างงั้น แหละ ได้ยินเสียงกลองนั้นออกมาเป็นเสียงเราทำ เสียงธรรมะอยู่ในหัวใจ ก็เลยได้รับความสงบ สมัยนั้น สมัยเป็นหนุ่ม กำลังคึกคะนอง กำลังเล่น ความสนุกสนานตามดนตรีของโลก เออ ถ้ามันมารบกวนหัวใจเรา เวลาเราทำความเพียร ก็มาเปลี่ยนเสียงกลอง ให้เป็นเสียงธรรมซะ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
อยู่นั่น พุทโธ ก็ว่าอยู่น่ะ พุทโธ หายใจเข้า พุท หายใจออก โท ผสมอยู่กับเสียงกลองนั้น มันก็สงบลงไป นิ่ง แน่วแน่ นอนหลับไปหรือเปล่า ไม่ได้นอนหลับ หัวใจมันยังว่า
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
อยู่อย่างงั้น เอาเป็นอารมณ์ของภาวนาซะ ก็ได้รับความสงบ หลวงปู่คำดี(หลวงปู่คำดี ปภาโส)ก็เลยชมเชยว่า เออ
มีปัญญา เว้ย มิจนปัญญา
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง
หาหนทางแก้ไขตัวเองให้ได้
เพิ่นว่าอย่างงี้ เพิ่นชมเชยให้นิดหน่อยเท่านั้นก็ดีใจแล้ว อ้า แต่ว่าออกจากสมาธิแล้ว เสียงทั้งหลายนั้นมันก็กวนได้อีก เสียงเพลง เสียงซอ เสียงพิณ เสียงอะไร มันก็เข้ามาอยู่ในหัวใจน่ะ รบกวนเราอีกเหมือนกัน แต่ก่อนก็ไม่ใช่ เป็นคนธรรมดาเพิ่นได้ชอบเล่นดนตรี ก็เล่นดนตรี พิณพาทย์ ระนาด ฆ้องวง เอาหมดทุกอย่าง สีซอก็เป็น เป่าแคนก็เป็น เป่าปี่ก็เป็น เป็นหมดทุกอย่าง สมัยเป็นหนุ่มน่ะ
อ้า แต่ว่าเมื่อบวชเข้าไป ไปเจอเอาสงครามซะแล้วปะ สงครามโลก ซึ่งเป็นเสียงรบกวนในเวลาเดินจงกรม ในเวลานั่งสมาธิภาวนา เอ้า มันรำคาญซะจนนอนไม่หลับ เราจะไปหายึดเอาเสียงอย่างนี้ มาเป็นเรื่องรำคาญมันทำไม เปลี่ยนเสียงใหม่สิ ให้เป็นเสียง
ป๊ะโท่นๆ โท่น ป๊ะโท่นๆ
ให้มันเป็นเสียง
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ
มันก็ดังอยู่นอก ดึงเข้ามาน่ะ ดังอยู่ในหัวใจเรา ก็เลยเข้ามาอยู่ในหัวใจ ดังอยู่ในหัวใจตลอดคืน ตลอดวัน จะหลับหรือไม่หลับก็ไม่รู้ล่ะ มันแจ้งแล้ว สว่างแล้ว ก็ลงจากภูเขามา ฮอด(ถึง)เวลาบิณฑบาตแล้ว ก็บิณฑบาตไปเรื่อย ก็ให้เสียงกลองนั่นดังไปตามเราเหมือนกัน แต่อยู่ในหัวใจ ไม่ได้ ได้อยู่นอก ไม่ได้อยู่นอก ไม่ส่งใจออกนอก อยู่ในใจ ได้รับความสงบสบายไปหลายวันทีเดียว เนี่ยอุบาย ไม่ใช่อบาย อุบายเป็นนโยบายที่จะทำให้ใจสงบได้ เออ ดังนี้ นี่พูดให้ฟังเฉยๆ หรอก อดีตที่เป็นมาแล้ว
วันนี้จะมีการฟังเทศน์กันหรือเปล่า
(อาราธนาธรรม พร้อมกัน)
เอ้า ตั้งใจฟังเนาะ(นะ)ปะเนี่ยเด้อ ให้ดีเน้อ วันนี้จะเทศน์ให้ฟัง ผู้อาราธนามีความประสงค์อย่างนั้น แล้วผู้ที่มาชุมนุมในที่นี้ ก็มีความประสงค์อยากจะฟังเทศน์เหมือนกัน ถ้ามีการอาราธนา อาราธนาเทศน์ขึ้น
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ อัตโถ
สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ
อ่ะ นั่งตามสบาย นั่งภาวนาตามสบาย ต่อยังไง นั่งเก้าอี้ก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ ถ้ามีเก้าอี้นั่งก็นั่งเก้าอี้ฟังเทศน์ คนอ้วน
จะพูดเรื่องศาสนา ธรรม คำสั่งคำสอนที่สมเด็จพระบรมศาสดาวางไว้แล้ว วางให้พุทธบริษัท พยายามแก้ไขตัวเอง ดัดแปลงตัวเอง ให้ไปในทางที่ถูกที่ต้อง อย่าฝ่าฝืนคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
หมายถึงว่าการละบาป ทางกาย ทางวาจา ทางใจนี่
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
การละบาปทั้งปวง ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ถ้ายังกระทำกันอยู่ มันจะละบาปได้หรือเปล่า ยังฆ่าสัตว์ ยังตัดชีวิต ยังเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นอาจิณจนชินจนเกิน สมาทานตั้งมั่น อยู่ในการกระทำของเราอย่างนั้น เรียกว่าไม่ละบาป ถ้าไม่ละบาปแล้ว บาปจะหนีจากเราไปไหน บาปก็อยู่ในตัวเรานั่นแหละ ความเศร้าหมอง เกิดขึ้นที่ใจเรานั่นแหละ ไม่ผ่อง ไม่ใส ไม่เบิก ไม่บาน ไม่ร่า ไม่เริงอะไร เศร้าหมอง ขุ่นมัว หงุดหงิดงุนงิน อยู่อย่างงั้น พูดอะไรถูกหูก็เย็นไป อะไรไม่ถูกหูยิ่งกำเริบใหญ่ ปิดหูใหญ่ แล้วโกรธผู้ที่มาว่าให้เราอีก อย่างนี้ใจมันจะผ่องใสได้ไหม ใจมันจะเบิกบานได้ไหม มีแต่ขุ่นมัว มีแต่เศร้า มีแต่หมอง ขุ่นมัวไป ถ้าเราละบาปได้แล้ว ไม่เคยฆ่าสัตว์ ไม่เคยลักทรัพย์ ไม่เคยประพฤติผิด ประพฤติผิดในกาม ไม่เคยกล่าวมุสาวาท โป้ปดมดเท็จ หลอกลวงอำพรางผู้อื่นเหล่านั้น เราเลิกได้แล้ว บาปทั้งหลายทั้งปวง ก็ชื่อว่ามันหนีจากเราแล้ว หนีไปแล้ว ไม่กำเริบแบบนั้นเลย
ใครจะด่าจะว่า ก็ยิ้มฟังได้สบาย
เอาหูไปนา เอาตาไปไร่
เอาใจไปหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โน้น
อย่าไปโกรธเขา ถ้าโกรธเขาแล้วก็ชื่อว่า เราเป็นคนผู้แพ้ เป็นผู้แพ้จากการกระทบกระเทือนมา มันจะกระทบกระเทือนขนาดไหน เจ็บปวดรวดร้าวขนาดไหน เราก็อดได้ อย่างนั้นเรียกว่าเป็นผู้ชนะขาดลอย เมื่อชนะขาดลอยแล้วสบายใคร ตัวของเราสบายเอง นั่งยิ้ม นอนยิ้ม ทำงานก็ยิ้มอยู่ทั้งวัน เป็นคนร่าเริงไม่มีความโศกเศร้าโศกา มาเบียดเบียนราวีบีฑา(เบียดเบียน)เราแต่อย่างใด เป็นคนสบาย เพราะว่าวางความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว บาปทั้งหลายก็เข้า ไม่เข้ามาถึงใจเรา มีแต่บุญล้วนๆ เข้ามา มีแต่ความยินดี ปรีดา ปราโมทย์ โชติช่วงชัชวาล เข้ามาอยู่ในหัวใจเรา เบิกบานร่าเริงอยู่ตลอดวัน เป็นคนไม่เศร้า ไม่โศก ในคำ
ยุให้รำ ตำให้รั่ว ยั่วให้แตก แยกให้ออก
ยังไง ก็ไม่มีใครมาทำได้ เราสบายมาก เรื่อง
ยุให้รำ ตำให้รั่ว ยั่วให้โกรธ
โดดให้ไกล ไปให้ฉิ่ว ริบให้หมด
อะไรพวกนี้ เราละได้แล้ว เราวางได้แล้ว เราจะเป็นคนสบาย นั่งสบาย นอนสบาย ทำงานก็ยิ้มอยู่ตลอดวัน ต้อนรับแขก ก็ยิ้มอยู่ตลอดวัน ไม่มีหน้าบูด ไม่มีหน้าบึ้ง ไม่มีอารมณ์เน่าๆ มายั่ว มาเย้าให้โกรธขึ้นมาได้เลย สบายไหมล่ะ อ่ะ สบาย เป็นคนละแล้วซึ่งความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง ความอิจฉา ริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร จองกรรมกับผู้อื่น ไม่มีเลย เฮอะๆ แล้วจะเป็นคนสบาย
อย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างของโลก เป็นตัวอย่างของอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายด้วย เป็นตัวอย่างขาดลอยเรื่องที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มารบกวนราวี หัวใจนางวิสาขาได้เลย มีแต่ยิ้ม ทำงานก็ยิ้ม ร่าเริงบันเทิง แม้แต่ใช้คนงาน พวกพนักงานที่ใช้สอยอยู่ ก็ไม่มีความกระทบกระเทือน แม้แต่น้อยเดียว เขาทำผิดก็จับมาสั่งสอน คนไหนทำผิดจับเอามาแล้วมาสั่งสอน สั่งสอนด้วยคุณธรรม เออ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธบริษัททั้งหลายจึงเอิ้น(เรียก)ว่าแม่ แม่เจ้า ว่าแม่เจ้าเพิ่นล่ะ นางวิสาขา เป็นพระแม่ เป็นแม่จริงๆ เออ แม้แต่ทำความผิดขนาดไหน แม่ก็ไม่เอาโทษ ให้อภัยได้ทุกอย่าง ไม่เคยทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีเลย อย่างนี้
นั่นเรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ดีแล้ว ได้ผลแล้ว ปฏิบัติธรรมให้จนได้รับผล ความกระทบกระเทือน กระทบกระทั่ง ป้อย(ด่า) ด่าผี อะไรก็ไม่มี ไม่มี มีแต่ความสบาย ยิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานร่าเริงอยู่อย่างงั้น อยู่ในบ้านของตัวเอง บางทีพ่อบ้านอาจจะพูดผิดหู แม่บ้านอาจจะหน้าบูดมู่ยู้ขึ้นมา อ้า พ่อบ้านพูดผิดหู แม่บ้านจะว่ายังไง ทำใจยังไง ทำใจให้เป็นธรรม หรือวางซะ ความโกรธ ความโลภ ความหลงเหล่านี้ มันทำให้ตนเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาก เราไม่ได้ต้องเอามาใช้ ความไหนที่ทำให้ใจเศร้า ใจหมอง ใจขุ่น ใจมัว อย่าเอามาใช้เป็นอันขาด ทำให้ทะเลาะวิวาทบาดถลุงกันต่อไป ถึงกับปากพากันอาฆาต ย่างแลน(วิ่ง)กันไป หนีไปก็มี เพราะความทะเลาะ เพราะความไม่อด ไม่ทนนั่นเอง อดเอานิดอดเอาหน่อย ต่อไปมันก็เบาไป วางไป เมื่อเราวางได้ เรายิ้ม หัวเราะตัวเองอยู่ในใจ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก ถ้าเราชนะสามีได้ ด้วยความอด ความทน ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ชนะ เราชนะภรรยาได้ก็เพราะความอด ความทนของเรามีพอ ไม่ล่วงเกิน คำสั่งคำสอนไม่ฝ่าฝืนธรรม ให้เกิดทะเลาะวิวาทกันไม่มี ไม่มีอย่างนั้นเกิดขึ้นใน ในการกระทำของเรา ในคำพูดของเรา กิริยามารยาทของเรา จะกระทืบบ้าน กระทืบเมืองใส่กันก็ไม่มี จะหน้าบูดหน้าบึ้งก็ไม่มี มีแต่ความยิ้มแย้ม แจ่มใส เบิกบาน ร่าเริงอยู่ตลอด มีเพลงอยู่ในหัวใจ มีดนตรีอยู่ในหัวใจ เพลิดเพลินเจริญอยู่กับดนตรีในหัวใจ ไม่ให้เศร้าหมองขุ่นมัวเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นก็รู้แล้วว่ามันทำให้เราเป็นทุกข์ ทุกข์ใจ เพราะความกระทบกระเทือนมา
เราอดไม่ได้ ก็เปรี้ยงไปเหมือนกัน ด่าว่าไปเหมือนกัน ตอบโต้เขาเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ชนะ เอาวาทศิลป์ของเขา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ชนะขาดลอย วาทศิลป์ที่เขาด่า เขาว่ามาเหล่านั้น เขาด่าเฉยๆ ไม่ใช่เขาฆ่าเราหรอก เขาว่าให้เราโกรธ เราก็ถือโกรธเป็นทุกข์ใครล่ะ เป็นทุกข์เราเองใช่ไหม ถ้าเอาความโกรธมาถือ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเอาความโลภมาถือ มันก็เป็นบาปเศร้าหมองแก่ใจ เอาความหลง
หลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงยินดี
หลงหาทั้งตาปี ไม่รู้เบื่อเชื่อตัณหา
หลงรัก หลงจูบ หลงกอด ตาบอด ใจบ้า
เป็นข้าความรัก เหนื่อยหนักไม่รู้
มาหอบไว้ในใจเรา ถ้าไปหอบเอาอารมณ์ ทุกอารมณ์มาไว้ในหัวใจ แล้วจะเป็นคนดีกับเขาไหม เป็นคนดีไม่ได้ ถ้าเอาอารมณ์เหล่านั้นมาหอบไว้ในหัวใจ ว่านิด ว่าหน่อยก็โกรธ ว่านิด ว่าหน่อย ก็เครียด แล้วก็ตาไม่หวานใส่ใครเป็นแล้ว อ้า หน้าบูดตลอดวัน ดังนี้เรียกว่าเป็นคนหอบอารมณ์ หอบอารมณ์มาหนักหัวใจตัวทำไม เพราะฉะนั้น นักภาวนาทั้งหลาย ต้องระมัดระวังอย่าให้อารมณ์บูดๆ เหล่านั้น เข้ามายั่วยวน ชวนให้กำเริบ อยากฆ่า อยากตีเขา อยากด่า อยากว่าเขา อารมณ์อย่างนี้มันบูด เป็นอารมณ์บูดๆ มาตกอยู่ในหัวใจของเรา เราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ อ้า มันเป็นทุกข์เรา
ถ้าเราเอาอารมณ์อย่างนั้นมาเป็นอารมณ์ของหัวใจ เราก็ไม่มีความร่าเริงนะ คนนั้นก็พึ่งพูดผิดหู คนนี้ก็พูดผิดหู ด่าว่า เสียดสีเราต่างๆ นานา เราก็หอบแต่อารมณ์บูดนั่นแหละ ไปไหนมาไหนบูดอยู่ ถึงจะแต่งตัว ทาแป้งแต่งตัว ทาลิปสติก(lipstick เครื่องสำอางทาริมฝีปาก)ยังไงก็ยังบูดอยู่ อย่างงั้นล่ะ ไม่ร่า ไม่เริง ถ้ารักษาอารมณ์ของเราไว้ได้แล้ว หน้าบานอยู่ตลอดวัน สีหน้าไม่เกิดไฝฝ้าราคี เบิกบานอยู่อย่างงั้น ผ่องใสอยู่อย่างงั้นเป็นคนแจ่มใสอยู่เสมอ เป็นคนชนะอารมณ์ของตัวเอง ที่มันยั่วยวน ชวนให้โกรธ เราก็ไม่โกรธตามมัน ยั่วยวนให้ด่า ให้ว่า เราก็ไม่ว่าตามมันซะ
ปล่อยมันไว้ที่นั่นแหละ ประเดี๋ยวมันเย็นแล้ว
มันก็เย็นเอง เหมือนน้ำที่ต้มเดือดแล้ว เดือดปานไหนก็ตาม เอาพ้นออกจากเตา เอาวางไว้ซะ กลายเป็นน้ำเย็นขึ้นมาได้ หรืออาจใส่ตู้เย็นเข้าไป กลายเป็นน้ำแข็งก็ยังได้ น้ำที่เดือดแล้วก็ตาม เอาไปใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน มันก็กลายเย็นลงไปๆ กลายเป็นน้ำแข็งขึ้นมาก็ได้ ไปเปิดตู้แช่ ตู้เย็น เย็นเฉียบขึ้นมา เวลาเย็นนี่เย็นจริง ก็สบาย เออ เห็นไหมล่ะ เปรียบข้างนอกให้ดู ทำให้มันเดือด หัวใจมันเดือด มันร้อน หัวใจมันเป็นไฟ
โทสัคคินา
เพิ่นว่า หัวใจเป็นไฟ ว่ากันด้วยความโกรธ มันเป็น
โทสัคคิ(นา) โมหัคคินา โลภัคคินา
ความโลภ ความโกรธ ความหลงเหล่านี้เป็นไฟทั้งนั้น ทำให้ผิดหู ก็ว้าก(เสียงร้องดังๆ)ขึ้นมาเลยล่ะ อืมไฟ ไฟมันแว๊บ ไฟมันสปาร์ค(spark ประกายไฟ) เออ เตาอั้งโล่ ถ้าไม่มีไฟไปใส่ซะก่อน ไม่เสียบปลั๊กซะก่อน เอามารีดผ้า อาจจะไม่ได้ผล เตาอั้งโล่ หรือว่าเตารีดเหล่านี้ก็เหมือนกัน เสียบปลั๊กเข้าไป ไฟฟ้ามันเดินเข้าไปในเครื่องแล้ว ปะเนี่ยร้อน พร้อมที่จะรีดผ้ารีดผ่อนได้ พร้อมที่ทำงานได้ น้ำ เราเสียบปลั๊กเข้า มันเกิดเป็นน้ำเดือดขึ้นมาก็ได้ อ้า เอาไปรดคนก็หน้าลวก หน้าเลิ่กไปล่ะ เสียบปลั๊กซะก่อน นี่เราไม่ให้ ไม่ได้เสียบ ไม่ได้เสียบปลั๊ก ถอดปลั๊กไว้เสมอ ก็เป็นของเย็น สบาย น้ำก็ไม่เดือด อะไรก็ไม่เดือด อ้า พัดลมเรามีไว้สำหรับระบายความร้อน ถ้ามันร้อนมา ก็เสียบปลั๊ก หรือเปิดสวิตซ์พัดลมซะ มันก็เป่าให้เย็นเฉื่อยเข้ามา กลายเป็นหนาวก็ได้ เออ อันนี้ในตัวของเรา มีไฟชนิดนั้นอยู่ในตัวของเรา
ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เป็นไฟทั้งนั้น ถ้าจะไปใช้ตามมัน มันก็เกิดไหม้บ้านไหม้ช่อง ไปทุกหนทุกแห่งล่ะ เพราะฉะนั้น เราปิดสวิตซ์ไว้ซะ อะไรที่จะเป็นไฟช็อต(short ลัดวงจร)ได้ สปาร์ค(spark ประกายไฟ)ได้ เกิดเป็นไฟไหม้ขึ้นมาก็ได้ เหล่านี้ๆ ไฟทั้งพ่วงเนี่ย ถ้ามันสั่นถึงตรงไหนๆ ก็รีบปิดสวิตซ์มันซะ ปิดสวิตซ์มันซะ ความร้อนมันก็ไม่มี ไม่มีไฟ ไฟมันก็เกิดขึ้นที่ใจเรา อ้า
โลภัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา
เพิ่นว่า เป็นไฟ
ราคัคคินา
นี่เป็นไฟอย่างแท้จริงแหละ ราคะเป็นไฟ นี่เห็นได้ชัด ถ้ามันร้อนขึ้นมา กระวนกระวายขึ้นมา
เพราะฉะนั้น พวกเราเป็นชาวพุทธ เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา ตามคำสั่งคำสอนของนักปราชญ์ราชบรมของเรา ปฏิบัติตนให้เย็นอยู่เสมอ อย่าเอาของร้อนมาใช้ ของร้อนนั้นมันเผาตัวเอง ไหม้ตัวเอง โกรธคนอื่น ฆ่าเขาไม่ได้ ก็อาจจะไปกินยาตายก็มี เพราะอะไร มันเดือดขึ้นมาก็มากมาย ไปผูกคอตนตายก็มี เพราะว่าไฟมันอยู่ในตัว ความโกรธมันอยู่ในตัว ความอาฆาตมาดร้าย มันแรง แรงขึ้นๆ ก็กลายเป็นไฟขึ้นมา สามารถเผาไหม้ตัวเองได้ ไหม้ตัวเองแล้วไม่พอ ไหม้บ้าน ไหม้เมืองได้ ไหม้วัสดุสิ่งของ เป็นจุณวิจุณไปก็มีเยอะแยะ เพราะว่าไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ มันเป็นไฟ เพิ่น พระพุทธเจ้าเพิ่นสอนไว้ เป็นไฟ อย่าไปฟังคำมันเด้อ ลูกหลานเอย อย่าไปฟังความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นไฟ มันเผาไหม้หัวใจตัวเอง นั่งไม่เป็นสุข นอนไม่เป็นสุข หน้าเคยยิ้มแย้มแจ่มใส เคยทาแป้ง แต่งตัว สวยงามทุกวัน แต่มันเกิดโกรธขึ้นมาเป็นยังไง หน้าดำคร่ำเครียดนะ ไม่ไปส่อง ไม่ใสล่ะ กลายเป็นคนหน้าดำ คร่ำเครียด หน้าเข้าฝ้า เฮอะ ไฝฝ้าราคีเต็มหน้าไปหมด เพราะฉะนั้น อย่าเอาความโกรธมาใช้ มันจะมาทำลายผิวพรรณ อ้า
โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ
เมื่อฆ่าความโกรธได้แล้ว อยู่เป็นสุขจำไว้ ไฝฝ้าราคีในหน้าของเราก็ไม่เกิด เออ เป็นหน้าเบิกบาน ร่าเริง ไม่เปลืองแป้งไม่เปลืองเครื่องสำอางใดๆ เลย ไปเถอะ ดังนี้ อยู่ด้วยความไม่โกรธ เป็นสุขกว่า หน้าตาสวยกว่า หน้ารับแขกกว่า หากไฝฝ้าราคีขึ้นเต็มหน้า แล้วมันเป็นยังไง น่าเกลียด น่าชัง ทาแป้งเท่าไหร่มันก็ไม่หาย อ้า เอาเครื่องสำอางมาทาเท่าไหร่ก็ไม่หาย เออ เพราะความโกรธอยู่ในหัวใจ มันเผาไหม้ ทำให้หน้าตาผิดปกติขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น ให้พวกเราผู้นับถือศาสนาพุทธ ทั้งหลายทั้งปวง ให้ฆ่าความโกรธให้มันตายไปจากหัวใจซะ ฆ่าความโลภให้มันตายไปจากหัวใจซะ ฆ่าความหลง ความใคร่ ความรัก ความอิจฉา ริษยา พยาบาทเหล่านั้น ฆ่ามันให้หมดซะ อย่าให้มันมาเป็นหัวหน้าหัวใจเรา มันจะทำให้เราเป็นคนเสียศีล ศักดิ์ศรี เสียสัตย์ เสียศีลไปหมด ถ้ามันมีความโกรธมามากๆ ทาแป้งให้หน้านวลๆ มันก็ไม่นวล มันนวลด้วยแป้ง มีสีสันวรรณะ เพราะความไม่โกรธ นั้น เรียกว่าฆ่าความโกรธได้แล้ว อยู่เป็นสุข สีหน้าก็ผ่องใส อ้า เบิกบาน ร่าเริง รับแขกที่ไหนก็ไม่น่ารังเกียจ ถ้าเอาความโกรธมาเป็นหัวหน้าใจเรา มันเป็นยังไง หน้าดำ คร่ำเครียด หน้าบูด หน้าบึ้ง ไม่เบิก ไม่บาน ไม่ร่า ไม่เริงกับเขา เขาหัวเราะก็หัวเราะแห้งๆ ไป ไม่รื่น ไม่รื่นหู รื่นตา เออ ทำให้จรรยาบรรณของเราเสียหายไปหมด ถ้าไปตามอำนาจตามความโกรธ ความโลภ ความหลง แล้วก็สีหน้าไม่ผ่องใส เออ
ดังที่แสดงมา เพื่อต้องการให้ท่านทั้งหลาย นำไปใคร่ครวญพินิจพิจารณาตาม อัปปมาทธรรม ไม่มีความประมาท ตั้งอกตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขอบข่าย คำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่าง ต่อแต่นั้นก็จะได้ประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ ทั้งทางคดีโลกทางคดีธรรมทุกประการ รับประทานฝอยมา ก็ยุติด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(สาธุ สาธุ)
หน้าเข้าไฝฝ้าราคี หน้าหมอง ใช้แป้งไม่ช่วยเท่าไหร่ ก็ไม่นิ่ม ไม่นวล เพราะคนขี้โกรธตลอดวัน มันเป็นอย่างงั้นนะ ทาแป้งแต่งตัวยังไงก็ไม่ขึ้น มันเศร้า มันหมอง ด้วยประการฉะนี้
(สาธุ สาธุ สาธุ )
สิกขาบท ๕
ปาณาติปาตา เวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการฆ่า เบียดเบียนสัตว์อื่น
อะทินนาทานา เวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
มุสาวาทา เวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี
สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
เว้นจากของเมา คือ สุราอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
โอวาทะปาฏิโมกขาทิปาโฐ
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
การยังกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
ความสำรวมในปาฏิโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง
ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
ที่นอนที่นั่งอันสงัด
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
การประกอบความเพียรในอธิจิต
เอตัง พุทธานะ สาสะนันติ
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร (๑๔) ข้อ ๕๔)
โลโก ปัตถัมภิกา เมตตา
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ
ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข
โทสัคคินา
ไฟ คือ โทสะ
โลภัคคินา
ไฟ คือ โลภะ
โมหัคคินา
ไฟ คือ โมหะ
ราคัคคินา
ไฟ คือ ราคะ
ปาจิตตีย์
เป็นชื่ออาบัติกอง ๑ ใน ๗ กอง เป็นลหุกาบัติ(โทษเบา)
บีฑา [บี-ทา] เบียดเบียน บีบคั้น รบกวน เจ็บปวด
(ฆ่าตีบีฑ์โบย)
มหาลดาปสาธน์
มหา [มะ-หา] ใหญ่ ยิ่งใหญ่
ลดา [ละ-ดา] เครือเถา เครือวัลย์ สาย
ประสาธน์ [ประ-สาด] เครื่องประดับ
อันประกอบด้วย
เพชร แก้วมุกดา แก้วประพาฬ แก้วมณี ทอง เงิน
เครื่องประดับนั้นสวมที่ศีรษะแล้ว ย่อมจรดหลังเท้า
ทำเป็นนกยูงตัวหนึ่ง ปีกทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน ทั้ง ๒ ข้าง
มีน้ำหนักมาก มีค่า ๙ โกฏิ ค่ากำเหน็จทอง ๑ แสน
ธนญชัยเศรษฐีบิดา ให้ช่างทองทำเครื่องประดับ
แก่นางวิสาขา ธิดาของตน ก่อนเดินทางมาแต่งงาน
นางวิสาขาและปุณณะหญิงรับใช้ ทั้ง ๒ คน
ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก จึงสามารถรับน้ำหนักของ
เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ได้
นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑
นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑
ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑
เป็นบุคคลที่มี มหาลดาปสาธน์
๗๙