หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วันเสาร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๒๐.๐๐ น.
วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ
อ.เมืองเลย จ.เลย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี สะมัคคานัง ตะโป สุโข
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
อิมัสสะ ธัมมะปะริยายัสสะ อัตโถ
สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ
อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา ตั้งแต่พระพุทธเจ้าอุบัติตรัสรู้ขึ้นที่แรกแล้ว ท่านก็แนะนำพร่ำสอน ไพร่ฟ้าประชาชน ให้อยู่กันด้วยความสามัคคีธรรม ธรรมะ
สังฆัสสะ สามัคคี สะมัคคานัง ตะโป สุโข
ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข ถ้าแตกแยกกันแล้วไม่มีความสุขเลย
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ยังความเจริญให้สำเร็จทุกอย่าง มันจะใหญ่ขนาดไหน โตขนาดไหนก็ตาม หากชนหมู่ใหญ่มีความกลมเกลียวสามัคคีกัน ย่อมทำการงานอันนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อย่างที่ศาลาใหญ่ๆ ของเราอย่างงี้ ของใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น อาศัยความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ หมู่มาก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถ้าผู้จนอับทรัพย์ ก็อาศัยชนหมู่ใหญ่เหมือนกัน มีน้อย ใช้น้อย บริจาคทานช่วยกันมาเป็นกำลังของทรัพย์ ยังๆ ความเจริญให้สำเร็จทุกอย่าง ถ้ามีความพร้อมเพรียงกันแล้ว สำเร็จทุกอย่าง แม้กิจการงานน้อยๆ แน่ๆ ถ้าแตกแยกกันแล้ว ไม่สามัคคีกันแล้ว งานน้อยๆ ก็เป็นงานใหญ่หนัก แบกหนักอยู่ เจ้าอาวาสก็แบกหนัก กรรมการวัดทั้งหลายก็แบกหนักอยู่ ถ้าเรามาช่วยกันคนละไม้ละมือ คนละบาท คนละสลึง คนละเฟื้อง คนละตำลึง คนละ ๑๐ บาท ๙ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๓๐ บาท ขึ้นไปถึง ๑๐๐ ๒๐๐ ๓๐๐ ๔๐๐ ๕๐๐ ผู้มีมากๆ มีรายได้มากๆ ก็ให้เป็นคนละ ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ คนละ ๑๐,๐๐๐ ๒๐,๐๐๐ ไป งานแค่นี้มันก็ไม่ยากอะไร ก็ย่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความสามัคคีกันนั่นเอง
ถ้าแตกสามัคคีกันแล้ว มีน้อยๆ คน ก็ยังทะเลาะกัน ไม่พร้อมใจกัน อืม ช่วยกันฮึด ช่วยกันดึง
หักซ่วย(ช่วย)กันหาบ หยาบ(เหนียวแน่น)ซ่วย(ช่วย)กันดึง
(สิ่งใดหนักให้ช่วยกันหาบ สิ่งใดเหนียวแน่นช่วยกันดึงให้ขาด)
คำว่า คำกูมึง อย่าได้เอามาเว่า(พูด)นะ
เพิ่นว่า เนี่ย กู มึง ถ้ามองเห็นประโยชน์ในครั้งหน้าที่จะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ถ้าพร้อมเพรียงกันทำไว้แล้วอย่างนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ใช้รวมกัน ใครจะมาจำศีลภาวนา หรือมาทำประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด บำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ ก็เรียกว่า มีที่พักพาอาศัย ทำ กิจการใดๆ ก็สะดวกสบายทุกอย่าง เนี่ย พัฒนาไว้แล้ว น้ำในฝืนไฟ มีพร้อมไว้แล้ว ถ้าไม่ทำไว้ มันรีบเป็นยังไง ก็อยู่มืดกันล่ะสิ อยู่อย่างนี้ก็อยู่มืดกันได้ มองไม่เห็นกันเลย ถ้าพัฒนาไว้แล้วอย่างนี้ สะดวกทุกอย่าง น้ำในฝืนไฟอะไรสะดวกทุกอย่าง ถ้าพูดไปทางถนนหนทาง ที่เข้าที่ออก ถ้าพัฒนาไว้แล้วก็ได้รับความสะดวก การเข้าการออก ขนสิ่งขนของเข้ามา มันไม่ใช่ได้เอามาเฉยๆ ต้องขนลากมา ขนมา
หักซ่วย(ช่วย)กันหาบ หยาบ(เหนียวแน่น)ซ่วย(ช่วย)กันดึง
(สิ่งใดหนักให้ช่วยกันหาบ สิ่งใดเหนียวแน่นช่วยกันดึงให้ขาด)
คำว่า คำกูมึง อย่าได้เอามาเว่า(พูด)
อ้า ของมึงก็เฮ็ด(ทำ)เอาสิ ของมึงก็เฮ็ด(ทำ)เอาสิ ถ้าคิดอย่างนั้น ก็แตกแยกกัน ไม่มีกำลัง กำลังกาย กำลังของ กำลังใจ ศรัทธา กำลังทรัพย์ด้านสมบัติ กำลังของกายวาจาใจ มีกำลังกันทุกคนๆ ของนั้นก็กลายเป็นของเบาๆ ขึ้นมา ไม่หนักหนาสาโหดอะไรเลย ทำอะไรก็สำเร็จสมเป้าปรารถนา นั่น ผู้มองไม่เห็นประโยชน์ ก็ย่อมตำหนิติเตียนว่า สร้างไปอะไรนักหนาๆ สร้างไปแล้วก็ไม่มีคนอยู่คนอาศัย คนปฏิบัติรักษาความสะอาดก็ลำบาก เออ นั่น อ้า ความแตกแยกชนิดนั้น เอาไปคิดในสังคมมนุษย์แล้ว ไม่ดีเลย ถ้าคิดแตกคิดแยกกันอย่างนั้น ไม่ดีเลย ความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ย่อมนำความสำเร็จให้ลุล่วงไปด้วยดี แต่ไหนแต่ไรมา บ้านเมืองไทยเราจะสะดวกสบายก็เพราะความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่นั่นเอง
อันนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านคิดขึ้นมาได้ จะนำรถไฟเข้ามาวิ่งในเมืองไทย ทำยังไงจึงจะได้มา เอ้า คนไทยเรามันเยอะแยะไป พวกเป็นโจรเป็นผู้ร้าย ติดคุกติดตะรางอยู่ ไม่มีโอกาสได้ทำอะไรกับเขา ก็เอาแรงงานของพวกนั้นมาพัฒนาประเทศ ให้ทำถนนหนทาง รถไฟรถฟืน อะไรมันจะสำเร็จลุล่วงไปทุกสายๆ ก็ความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าหากว่าไม่พร้อมเพรียงกันแล้ว แตกหักกันแล้วจะมีรถไฟมาวิ่งได้ไหม รถไฟฟ้า รถราง รถอะไรๆ ถนนหนทางจะสะดวกสบายไหม เหตุที่เกิดความสะดวกสบายมา ก็เพราะบรรพบุรุษ บูรพมหากษัตริย์เป็นผู้คิดขึ้น สร้างขึ้น วัดวาศาสนาอ้า ทุกวัด ในกรุงเทพฯ มีกี่วัด เออ นับไม่ถ้วน วัดพระแก้วมรกตก็มี วัดอะไรๆ มีแต่วัดที่เจริญๆ ทั้งนั้น อาศัยกำลังของชน หมู่ใหญ่นั่นแหละ เสียสละทรัพย์สมบัติของตัว คนละนิดละหน่อย อ้า ตามมีตามได้ งานนั้นมันจะหนักหนาสาหัสโหดขนาดไหนก็ตาม ก็เลยเป็นงานเบา งานเบาสามารถให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ดังที่เราได้ใช้ๆ กันอยู่นี่ ความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่เสียสละมา การไฟฟ้า น้ำประปาก็ดี ของเหล่านั้นก็อาศัยกำลังของชนหมู่ใหญ่ อ้า พัฒนามาเรื่อยๆ มีไฟฟ้า มีน้ำประปา น้ำไม่ประปาก็ตาม ก็ต้องอาศัยกำลังของคนช่วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พวกเราอย่าเห็นว่าพูดเล่นๆ พูดมีสาระประโยชน์ให้กันฟัง ประโยชน์ที่เกิดขึ้น เราได้ใช้ได้สอยกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ พากันพัฒนาเอาไว้ ถนนหนทางสะดวกสบายขึ้นมา ไฟฟ้า น้ำประปา อ้า ก็ได้ใช้สะดวกสบายขึ้น อย่างนี้แหละเป็นตัวอย่าง อย่าไปทอดทิ้ง อย่าไปนิ่งดูดาย อย่าใจจืดใจดำ ใครอยากพัฒนาก็พัฒนาไปเถอะ เราไม่ร่วมด้วยหรอกอย่างนี้ เออ อย่างงั้นก็มีนะ ทิ้งงานทิ้งการ หนีไปเลย ไม่ได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ร่วมกับหมู่กับคณะ หมู่เขาทำได้เราก็ทำได้อย่างงั้นนะ อืม ทำการความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่พัฒนาอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง เออ
ครูอาจารย์ มาอยู่ถ้ำผาปู่ใหม่ๆ มันเป็นของลำบากอยู่ เรื่องน้ำเรื่องท่าก็ลำบากอยู่ ไฟฟ้าก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี เอาไปต่อมา เมื่อไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย เอาใจใส่อยู่ทุกฝ่าย ของเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมา รุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาล แอ้ ทำให้เจริญ นำความเจริญมาให้ ถนนหนทาง ที่เข้าที่ออก เหล่านี้เกิดจากความพร้อมเพรียงของชนหมู่ใหญ่ช่วยกันพัฒนาไว้ แต่ก่อนมันจะมีอะไร
เราเข้ามาทีแรก บุกป่าเข้ามา บุกป่าเข้ามาถ้ำผาปู่เนี่ย บุกป่าบ้านฮ้าง(ร้าง) พวกๆๆ เขามารถ ไม่มี ไม่มีรถ ไม่สะดวกเลย เนี่ยโยมเอื้อมพามาบุก โยมเอื้อม พ่อของแก้ว พ่อของ เออๆ นั่นแหละ แม่เฉลิม มีคนเสียสละแรงงาน ครั้งแรก มาอยู่นี่มาทำบันไดขึ้นถ้ำที่หลวงปู่จะนอน หลวงปู่จะนอนที่บนถ้ำนั่นแหละ ไม่มีอะไร แล้วก็ทำทางจงกรม ให้ท่านได้เดินจงกรมออกกำลังกาย เอาไว้เรียกว่าทางจงกรมอยู่ข้างบนน่ะ มุงไว้ด้วย แบกเสาจากข้างล่างขึ้นไปถึงทางจงกรมนู้นน่ะ หามเสากัน คนบางคนเขาแข็งแรง เขาหาม เขาแบกคนเดียวก็ได้เสา ๓ จงกรม เดี๋ยวนี้มันยาหรือเปล่าวะเนี่ย มันยาหรือเปล่า หรือมันปลวกกินไปหมดแล้ว ความยุ่งยากลำบากไปหน่อย ช่างมัน แต่เมื่อสำเร็จแล้ว ได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง ดังที่เราเห็นๆ กันอยู่นี้ ได้รับความสะดวกสบาย เพราะไม่นิ่งนอนใจ ไม่นิ่งดูดาย อ่ะ ช่วยกันทำจริงๆ อ่ะ พัฒนาจริงๆ ก็ได้ความสะดวกสบายจริงๆ เออ ไม่สะดวกสบายแต่คนในจังหวัดเลยอย่างเดียว ก็นั่นพวกกรุงเทพกรุงไท มาก็สะดวกสบาย ท่านผู้ว่าการรถไฟมา มาสร้างศาลาหลังนี้เสร็จ แล้วใหม่ๆ นอนที่ไหน นอนใต้บันไดนั่นน่ะ บันไดน่ะ พากันไปปูเสื่อ ฟูกหมอนมี นอนนั่น เมียนอนใต้บันไดนั่นแหละ นี่ผู้ว่าการรถไฟ คุณบันยง ศรลัมพ์ นามสกุล เป็นนักเสียสละผู้หนึ่งเหมือนกัน มาช่วยเหลือครูบาอาจารย์ อ้า ไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย เอาใจใส่เป็นพิเศษ ทางมันจะไกลแสนไกลขนาดไหนก็ตาม ก็อุตส่าห์ฝ่า อ้า ความเหนื่อยยากลำบากมา สู้เอา อืม เออ ไม่ตายๆๆ อยู่อย่างงั้นน่ะ เอา ความไม่ตาย เอาความไม่ตายขึ้นมาตั้งเป้าไว้ ไม่ตายๆ เราทำได้ อืม ทำมาเรื่อยๆ ความเจริญ จึงมีไว้เป็นมรดกตกทอดพวกเราอยู่เดี๋ยวนี้ ได้ใช้ ได้สอยอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เกิดจากความศรัทธาสามัคคีกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น ต่อไปจะพัฒนาบ้านเมืองก็อาศัยชนหมู่ใหญ่เหมือนกัน แอ้ พัฒนาบ้านช่องห้องหับ ถนนหนทาง น้ำประปา ไฟฟ้าอะไรก็ดีต้องอาศัยกำลังชนหมู่ใหญ่ช่วยกัน ให้ช่วยกัน อย่าได้ทอดทิ้ง อย่านิ่งดูดายออกเป็นผลสำเร็จสมเป้าปรารถนา อ้า คนยากอันไหนก็สู้ บรรพบุรุษ บูรพมหากษัตริย์ของเรา เป็นคนขยันจริงๆ พัฒนาบ้านพัฒนาเมือง ถนนหนทาง ทางรถฟืนรถไฟไม่มีหรอกสมัยก่อน แต่ว่าพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระจุลจอมเกล้า เนาะ(นะ) เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มาคิดขึ้น สำเร็จมาแล้วได้รับความสะดวกสบาย
แต่ว่าลูกหลานบางคน บางเหล่า บางกอ ทำลายทรัพยากรแผ่นดินของตัว ไปเผาสะพานตรงนั้น เผาสะพานตรงนี้ อ้า ทำทางรถไฟให้ถล่มทลายไปก็มี ไอ้ที่ว่าลูกหลานจัญไร ลูกหลานจัญไรไม่รักษามรดกของบรรพบุรุษของตัวเอง พัฒนามาแสนยากลำบาก เอาชีวิตคนไปตายในดงพญาเย็น ไม่ใช่น้อยนะ เกณฑ์คนไปทำงานดงพญาเย็น เขาเอิ้น(เรียก)ว่าดงพญาไฟ เพราะฉะนั้นแต่ก่อน เขาให้ มัน ยุงกิน ไปอยู่ป่าอยู่เขา ยุงกิน ทีนี่ยุงทั้งหลายรบกวน เกิดเป็นไข้จับสั่นกันขึ้น เออ ตายในป่านั่นเท่าไหร่ ไม่นับ ตายไปช่างมันแล้วช่างมัน แต่ว่าเราช่วยพยายามรักสงรักษาเอา อ้า ยุงมันจะเหนือกว่าคนเหรอ อ้า คนเนี่ยมีความรู้สูงกว่ายุง อ้า ยาแก้ไข้สั่น จับสั่นมันมี เอามาแจก เอามาให้ เรามาให้คนงานทั้งหลายได้ใช้ได้สอย กินให้หาย หายมาด้วยดี ทางก็สำเร็จไป เป็นระยะๆ จากกรุงเทพฯ ขึ้นป่า ผ่านดงพญาไฟ เขาใหญ่นี่แหละ ทะลุไปถึงโคราช พักไว้ก่อน ไปถึงโคราชแล้วพักไว้ก่อน ก็ต่อไปอีกจากโคราชไปถึงขอนแก่น จากขอนแก่นไปอีกถึงอุดรฯ จากอุดรฯ แล้วไปถึงหนองคายมันขนาดไหนอ่ะ อ้า ไข้กันเป็นหัว... หัว... หัวหลน หัว... โรคภัยไข้ป่ากิน แต่ว่าสำเร็จลุล่วงมาแล้วสบาย เดี๋ยวนี้สบาย รถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นถึงอุดรฯ ถึงหนองคายไปแล้ว อ้า ทางรถยนต์ รถไฟอีก มีหลายอย่าง ข้ามแม่น้ำโขงไปก็ยังมีอีก อ้า ไปถึงเวียงจันทน์ยังมีอีก อันนี้พูดเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกตรงๆ ถึงอุบลฯ สกลนคร นครพนมไปทางโน้นสิ ใช้กำลังของคนเหมือนกัน สมัยก่อน ไม่ได้เอาเครื่องยนต์กลไกมาจากไหนหรอก คนนี่แหละหาบหาม ขี้ดิน หาบหามขี้ดิน สานบุ้งกี๋ หาบหามขี้ดินใส่ทางรถ อ้า จนเป็นทางรถเดินได้สะดวกสบาย สะดวกสบาย เห็นความพร้อมเพรียงของชนหมู่มาก
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
เพิ่นว่าไว้
สะมัคคานัง ตะโป สุโข
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
เพิ่นว่าไว้อย่างนี้ จริงหรือเปล่า เราเห็นประโยชน์ในความพร้อมเพรียงหรือเปล่า ภาคตะวันออกก็มี แฉลบไปถึงโน้น ถึงจังหวัดปลายแดน ภาคใต้ถึงโน้นปาดังเบซาร์ อ้า ลำบากไหม อ้า ทำไมสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี เพราะความพร้อมเพรียงของชนหมู่มาก เพราะฉะนั้น ที่ยกภาษิตขึ้นว่า
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี สะมัคคานัง ตะโป สุโข
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ให้นำไปใคร่ครวญพินิจพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองเถิด อัปปมาทธรรม ไม่มีความประมาท ตั้งอกตั้งใจสะสาง อ้า นำบ้านเมืองให้มันเจริญรุ่งเรือง ได้สำเร็จลุล่วงไป ดังที่เห็นๆ กันนี่แหละ ดังที่แสดงมา ลมไม่มาแล้ว เหนื่อยแล้ว จึงขอสมมติยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(สาธุ)
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข
สะมัคคานัง ตะโป สุโข
ความเพียรของผู้พร้อมเพรียงกัน ให้เกิดสุข
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท
อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต
คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔ ข้อ ๒๔)
สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
ทรงผูกขึ้นแปลได้ความว่า
“ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จ”
สัญลักษณ์ของความสามัคคีนั้นเห็นได้จากการ
ประดิษฐานตราแผ่นดินที่มีคาถาภาษิตว่า
“สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฒิสาธิกา”
ซึ่งแปลว่า ความพร้อมเพรียงของคนทั้งปวง
รวมกันเป็นหมวดหมู่ด้วยความสามัคคี
เป็นเครื่องทำความเจริญให้สำเร็จ
อยู่ที่เสาทั้ง ๔ มุมของพระบรมรูปทรงม้า
ในขณะที่ชาติไทยกำลังถูกล่าเป็นเมืองขึ้น
๓๙