หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมชั้น ๒๒
อาคารศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
ยังไม่มีคำพูดใดๆ ที่เอามาพูดได้ นึกไม่ออกเลย ขอให้ตั้งใจทุกคน ตั้งใจสดับตรับฟัง คำสั่งคำสอนที่หลวงพ่อจะนำมาแสดงให้ฟัง เท่าที่จะพูดได้ พวกเราทุกคน มีพ่อ มีแม่ ถ้าเหนือออกไปก็มีปู่ มีย่า มีตา มียาย ผู้ให้ความอุปถัมภ์บำรุงเรามา ไม่ทอดทิ้งนิ่งดูดายเลย เอาใจใส่ฟูมฟักและรักษา ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อึออกมาก็เป็นหน้าที่ของท่านเหล่านั้น ที่จะรีบล้างเอา เช็ดเอา อาบน้ำ เช็ดขี้หู ขี้ตาให้ทั้งนั้น เราจึงลืมตาอ้าปากกับเขาได้ แล้วก็ดื่มอะไรต่อไป ดื่มอะไรได้แล้ว เอานมยัดใส่ปาก ลูกไม่อ้ารับ ไม่รู้จักอะไร จะเป็นอะไร อ้า ดูดๆๆๆๆ บอกให้ดูด เอานมใส่ปากให้ ก็คาบปั๊บ แล้วก็ดูดเลย ดูดใหญ่เลย รู้จักรสของนมแล้ว กินทีหน้าทีหลังไม่ต้องบอก รู้จักแล้วมันอยู่ที่นี่ นมอยู่ที่นี่ อืม ร้องไห้ เป็นสัญญาณว่าหิวแล้ว หิวนมแล้วเป็นต้น ถ้ากินข้าวได้ หิวข้าวก็เป็น หิวนม หิวข้าว มาด้วยกันล่ะ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่เมตตา ไม่เอานมใส่ปากให้ ไม่ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้ ไม่ตักข้าว ตักอะไรเหลวๆ ที่กวนไว้แล้วเนี่ย ใส่ปากให้ ก็ไม่รู้จักที่กินอีกล่ะ นั่น ท่านฟูมฟักรักษา เอาใจใส่ขนาดไหน พวกเราเคยคิดบ้างไหม เราเติบโตเป็นผู้ เป็นคนมา ก็เพราะท่านเหล่านั้น ให้ความเมตตาปรานีอารี(อา)รอบเรา เอาใจใส่ดูแล รักษา หิวเวลาไหนก็เอานมใส่ปากให้ เอาอาหารใส่ปากให้ จนกินข้าวได้เองด้วยตัวเอง โตขนาดไหนจึงจะกินเป็น จนกว่าจะกินข้าวเองเป็น โน้นล่ะ กินเป็นก็ไม่รู้จักว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ อะไรเป็นดูก(กระดูก) อะไรเป็นก้าง อะไรที่มันจะคาคอ ติดคอ แม่ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าเอาอะไรเข้าปากไม่ถูกต้อง แม่ก็ดูแลอยู่อย่างนั้น เอาใส่ให้ใหม่ เลือกดูซะก่อนว่ามีก้างหรือเปล่า มีดูก(กระดูก)หรือเปล่า มีสิ่งที่จะติดคอหรือเปล่า ร้องโวยวายขึ้นมาแล้ว ของนี้ไม่ได้ๆ อันนี้ไม่ได้ๆ เอ๊ะๆๆ ติดคอ รีบปาดเอาออกให้ รู้เดียงสามาเพราะแม่สอน พ่อสอน แม่สอน ยายสอน ให้ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น บิดามารดานี่มีพระคุณล้นฟ้า ล้นแผ่นดินพู้น(โน้น)ล่ะ บิดามารดาเป็นผู้ฟูมฟักรักษามา อดตาหลับขับตานอน แล้วก็ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้ เราอึใส่ผ้าจะรู้เรื่องอะไรหรือเปล่า ไม่รู้ เยี่ยวใส่ผ้า เยี่ยวใส่ที่หลับ ที่นอน รู้หรือเปล่า ไม่รู้ นอกจากพ่อกับแม่ เอาใจใส่ดูแล ฟูมฟักรักษามาตลอด เราจึงช่วยตัวเองได้ เมื่อรู้เดียงสามานี้แล้ว เพราะฉะนั้น พระคุณอันนั้น เพิ่นว่าล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน
ความเมตตาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งให้เองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
ฉะนั้นน้ำใจของพ่อ น้ำใจของแม่ น้ำใจของตา น้ำใจของยาย ผู้อยู่ใก้ลชิดติดกับเรา เอาใจใส่ดูแล ไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย เราจึงได้เป็นผู้ เป็นคนขึ้นมา รู้จักเดียงสาขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระคุณของท่านล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน ใหญ่กว่าแผ่นดิน ล้นฟ้าเหนือแผ่นดินไป พระคุณอันนี้ เพิ่นยังบอกว่า
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
เออ ความสงเคราะห์ ดูแลรักษา ฟูมฟักรักษา เอาใจใส่ที่สุด ถ้าลูกไม่กินข้าว กินน้ำ ก็เป็นทุกข์ เป็นร้อน ถ้าลูกเป็นไข้กระจองอแง พ่อแม่ไม่หลับ ไม่เป็นอันหลับ ไม่เป็นอันนอน ผวาตื่นอยู่อย่างนั้น นั่น น้ำใจของท่าน เพิ่นจึงยกให้เป็นหัวใจเทพ หัวใจพรหม
พ๎รัห๎มาติ มาตาปิตะโร
บิดามารดาเป็นพรหมของลูก พู้น(โน้น)ล่ะ เป็นพรหม เป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่ลูก จนกว่าจะรู้เดียงสา จะนานเท่าไหร่กี่ปี กี่เดือน กี่วัน จึงจะช่วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้น พระคุณอันนั้น เพิ่นจะเอามาพรรณนาเท่าไหร่ก็ไม่จบ ไม่สิ้น พรรณนาเรื่องบุญคุณของพ่อของแม่ เพราะฉะนั้น เราต้อง เออ ถือเป็นเทวดา รักษาเรามา ให้ความอุปถัมภ์บำรุงเรามา แต่วันเราลืมตา อ้าปาก ดูโลกกับเขา ก็รู้จักร้อน จักหนาว รู้จักไฟ จักฟืน ขึ้นมาได้ ก็พ่อแม่เป็นผู้สอนทั้งนั้น อาหารการกินอันนี้เป็นก้าง อันนี้เป็นกระดูก ติดคอ อ้วก กินไม่ได้ นี่กินไม่ได้ อยากจะกินก็กินไม่ได้ เพราะขืนให้กิน เดี๋ยวมันจะไปติดคอ เอาใจใส่ที่สุด คือ พ่อแม่
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
ผู้ให้ความอุปถัมภ์ (อุ)ปัฏฐาก ตั้งแต่เกิดมาจนจะเดียงสา ช่วยตัวเองได้ซะก่อน จึงจะวางได้ วางใจได้ แต่ปานนั้นโตมายังไม่รู้จักอะไร เห็นเข้าปากได้ ก็เอาเข้าปากไปเลย อ่ะนะ มันจะติดคอหรือเปล่าล่ะ เมล็ดมัน เมล็ดมะม่วง เมล็ดมะปราง เมล็ดมะไฟ อะไรต่ออะไร ที่มันมีเมล็ด กินเข้าไปก็ติดคอ ทำยังไงอันนั้นมัน ผู้เป็นมารดาบิดาเป็นผู้ดูแลรักษา ให้ความอุปถัมภ์บำรุงเรามาโดยตลอด ไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย เอาใจใส่เป็นที่สุด คือ พ่อกับแม่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า
พ๎รัห๎มาติ มาตาปิตะโร
บ้าง บิดามารดาเป็นพระพรหมของลูก
อาหุเนยยะ ปุคคะโล จะ
คุณเพิ่นเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูกก็ว่าได้ เพราะท่านไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย ไม่ใจจืด ใจดำ เพราะฉะนั้น เราโตมาแล้ว เราจะตอบแทนบุญคุณของท่านได้อย่างไร ทำไงท่านจะเบาใจกับความเติบโตของเราได้ ทำยังไงจะช่วยตัวเองได้ พู้น(โน้น)ล่ะ ให้เวลาเท่าไหร่กี่ปี เออ ตอนเด็ก เป็นเด็กเป็นเล็กอยู่ก็ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือมา มีบิดา มารดา หรือว่าพี่เลี้ยง ถ้ามีพี่เลี้ยงสำหรับเลี้ยงเด็กก็มี ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ดูแลเรา ให้ความปลอดภัยแก่เรามาโดยตลอด ไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย ไม่ปล่อยไปตามกิเลส ที่มันเกิดมาใน ในติดความหิวของเรา มีอะไรยัดใส่ปากหมด มีอะไรก็ยัดใส่ปากหมดทุกอย่าง อย่างนี้ก็ชื่อว่าช่วยตัวเองยังไม่ได้ ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด กว่าจะโตขึ้นมาช่วยตัวเองได้ กี่ปี พ่อแม่เอาใจใส่ดูแล ฟูมฟักรักษามากี่ปี จึงจะช่วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้น บิดามารดาจึงเป็นผู้มีพระคุณต่อชีวิตเรา อย่างหาที่ประมาณมิได้ นี่แผ่นดิน ให้ที่อยู่ของสัตว์อื่น มีชีวิตรอดปลอดภัยมา
เพราะพ่อแม่เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยปละละเลย ตามอำเภอใจ ตามความอยากของเขา ดูแลจะกินอะไรได้ เออ อะไรเป็นดูก(กระดูก) อะไรเป็นก้าง อะไรเป็นอ้า ที่มันจะติดคอ ...เอาเข้าปาก ก็จก(ล้วง)ออก เฮอะๆ แน่ะ จก(ล้วง)ออกในปาก ให้จก(ล้วง)ออก ลูกไม่พอใจก็ร้องไห้ เอ้ ว่าจะกินแล้ว ทำไมจก(ล้วง)ออก ของที่ชอบๆ ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
พ่อแม่นี่เป็นผู้ให้อุปถัมภ์ (อุ)ปัฏฐากเรา ตั้งแต่เกิดมาจนจะช่วยตัวเองได้ กี่ปีๆ พอระลึกได้ไหม เราทุกคนต้องระลึกได้ พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา ลืมตาอ้าปาก ดูโลกกับเขาได้ ก็เพราะความฟูมฟักรักษาของพ่อของแม่นั่นเอง อย่าเข้าใจว่าโตแล้วอย่ามาสอน อย่ามาว่าอย่างงั้นน่ะ สอนไป จนมีครอบมีครัว แม้มีครอบมีครัวไปแล้วก็ยังห่วงกันอยู่ โอ้ มันมีลูก มันเกิดมีครอบมีครัวมีลูกขึ้นมา เวลามันคลอดลูก มันจะคลอดยังไง แม่อยู่ต่างจังหวัด ลูกมาอยู่กรุงเทพฯ ใกล้เดือนจะคลอดแล้วทำยังไง แม่ก็ต้องหอบสิ่งหอบของ มาจากบ้านนอกพู้น(โน้น)ล่ะ นั่งรถ นั่งเรือมา เออ ถ้ามีความสามารถจะนั่งเครื่องบินมาก็ยังไม่ทันใจ มาลงที่นั่นแล้วก็ไปที่นั่น บ้านเขาพักอยู่ที่นั่นๆ เขาจะคลอดแล้ว ถึงเดือนจะคลอดแล้ว อย่างนี้เป็นต้น อืม มาเฝ้า มาเฝ้ามาดูแลความปลอดภัย ลำบากขนาดไหนไม่ต้องห่วง ท่านเหล่านั้นมีน้ำใจเอง มีน้ำใจเสียสละมาดูแลเราเอง ดูแลความปลอดภัย เวลาคลอดบุตรจะลำบากขนาดไหน อยู่ฟืนอยู่ไฟทำยังไง โอ้โฮ นานับประการ นับไม่ถ้วน ที่ให้ความสนับสนุน เหนื่อยยากลำบาก ทนได้สำหรับลูก มีครอบมีครัวมาแล้วก็ยิ่งห่วงใหญ่ ลูกคนที่ ๑ ก็ปลอดภัยมาแล้ว ถ้าอยู่ด้วยกันต่อไปเข้าก็มีลูกคนที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไปเรื่อยๆ
เขาเป็นห่วงทุกคนน่ะ มีคนที่เท่าไหร่ๆ ก็ยิ่งเป็นห่วงขึ้นมาอยู่อย่างงั้นแหละ อ้า ถ้าแข็งแรงดี สุขภาพดี ก็ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรง อันนี้เป็นห่วงมาก เป็นห่วงมาก เขาไม่มีสุขภาพแข็งแรงดี กินอาหารการกิน กินอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ผิดคำ คำเตือนอะไรที่มันผิดกลิ่น ผิดกลิ่นก็มี ผิดกลิ่น กลิ่นอะไรที่มันแสลงกับแม่ลูกอ่อน กลิ่นชนิดนั้นเขาก็ไม่อยากให้ใกล้เลยแหละ ไม่อยากให้กินเลยแหละ
อย่ากินสมอยาก อย่าปากสมเคียด(โกรธ) อย่าปากสมโกรธ
ไวปากเสียศีล ไวตีนตกต้นไม้
เออ ฟูมฟักรักษามาโดยตลอด ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี้ ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มาแล้ว อยู่ในความปกป้องและคุ้มครองของพ่อของแม่ทั้งนั้น ฟูมฟักรักษามา ช่วยตัวเองยังไม่ได้ เวลาอึออกมา เวลาฉี่ออกมา อ้า ใครต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้ล่ะ หรือจะนอนหมกอยู่กับขี้ตัวเองนั้น ไม่ได้ อย่างงั้นไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ เพราะไม่รู้จัก เรื่องต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยว ก็เป็นหน้าที่ของแม่อีกแหละ หรือว่าพี่เลี้ยง ถ้าคนมีฐานะหน่อย ก็มีพี่เลี้ยงที่จะดูแลให้ ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้ ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่าเหมือนพ่อเหมือนแม่เรา อย่าไปดูหมิ่นถิ่นแคลน ถกเถียงว่ากล่าวอะไรๆ ขาดความเคารพก็ไม่ดีอีก เป็นการเถียง ถกเถียงผู้มีพระคุณ โต้เถียงกับผู้มีพระคุณ อย่างนั้นก็ไม่ดี ไม่งามอีกเหมือนกัน ต้องน่ารักตลอดไป ถ้าเราโตมามีครอบมีครัวมาแล้วสิ จะพูดอะไรให้กระทบกระเทือนจิตใจของพ่อของแม่ ให้มีความละอายในใจบ้าง
อย่าว่า อย่ากินสมอยาก อย่าปากสมโกรธ
อืม แม่ด่ามาก็ด่าตอบ แม่ป้อย(ด่า)มาก็ป้อย(ด่า)ตอบ อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าอย่างงั้นก็เป็นคนเนรคุณ เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ เราต้องตระหนักอยู่ในใจไว้เสมอ โธ่ ท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ ดูแลเราอย่างใกล้ชิด เป็นหวัด เป็นไอ เป็นไข้ เป็นหนาว ขี้มูก ปื๊ดป๊าดๆ ใครเป็นคนเช็ดให้ นั่น ใครเป็นคนเช็ดให้ เป็นคนล้างให้ ไม่ว่าแต่ๆ สมัยนี้
สมัยก่อนโน้น พระเจ้าพิมพิสารเลี้ยงลูกอ่อน ลูกหายใจไม่ออก ทำยังไง หายใจไม่ได้ มันจะใจขาดสลบไสล ปื๊ดป๊าดๆ พระเจ้าพิมพิสารจะทำไง เอาปากอมจมูกลูก แล้วดูดปื๊ดๆ ๒ ๓ ปื๊ด หมด ออกมาหมด คายทิ้งไป อ้า ถ้าเป็นอีกก็ดูดอีกอยู่อย่างงั้นล่ะ ขนาดนั้น ขนาดลูกเป็นหวัด พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงราชคฤห์ ทำขนาดนั้น ผู้เป็นพ่อรับผิดชอบช่วยกันกับแม่ แม่ก็ทำหลายวิธีแล้วแต่พ่อนั่นแหละ มีพลังมากกว่าเอาปากอมจมูกดีๆ แล้วก็ดูดแรงๆ ปื๊ดๆ ที ๒ ๓ ทีก็ออกมาหมด อยู่ในจมูก หายใจโล่ง ไม่ได้หายใจฝืดเหมือนเก่า แล้ว นั่น ขนาดนั้น ร้อยทั้งร้อย ไม่ใช่คนเดียวแค่นั้นนะ ทั่วไป ในประเทศไหนก็ตาม ประเทศอินเดีย เขาก็เป็นอย่างงั้น ประเทศไทยก็เป็นอย่างงั้น พ่อเราก็มี แม่เราก็มี เคยดูแลรักษาเรามา ดูดจมูกเราเหมือนกัน ถ้าเราเป็นหวัดปื๊ดป๊าดๆ หายใจไม่ออก พ่อจะทำยังไง ไม่มีปัญญาที่จะทำช่วยได้ จำเป็นก็เอาปากของตนแหละช่วย อมที่จมูกแล้วก็ดูดแรงๆ ปื๊ดๆ ๒ ๓ ทีก็ออกหมดพอดี หายใจได้แล้ว ไม่ร้องงอแงอีกแล้ว ถ้ามันเป็นอีกครั้งที่ ๒ พ่อเอาอีกอยู่นั้น ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ พ่อเป็นคนดูดให้ ดูดจมูกให้ เป็นอย่างงั้นผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ไม่ดูเฉยๆ หรอก กลัวลูกจะใจขาด เออ หายใจไม่ออก โอ้ ขนาดนั้นเหรอ เนี่ย พ่อเราแม่เราก็เหมือนกัน ทุกคนที่นั่งอยู่ในนี้มีพ่อมีแม่ทั้งนั้น พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ ฟูมฟักรักษาขนาดนั้น แม้ขี้มูกออกมาตันจมูก หายใจไม่สะดวก ร้องไห้งอแงๆ ทุกวันนี้หมอเต็มบ้านเต็มเมือง อาจจะอุ้มไปหาหมอ ให้หมอช่วยดูด ช่วยอะไรให้ เอาเครื่องดูด ไม่ได้เอาปากดูดหรอก คนสมัยใหม่เขามีเครื่องดูดจมูก ดูดขี้มูก เสลดน้ำลาย ที่คาคออยู่เหล่านั้น เป็นหน้าที่ของพ่อของแม่ทั้งนั้น อืมๆ ไม่ได้จะครั้งเดียวนะ มีกี่คน เลี้ยงลูกมากี่คน ได้ทำอย่างนี้กันทุกคนๆ น่ะแหละ ทำความสะอาดให้ลูก ไอ้เรื่องต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)อ้อม หรือต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวเหล่านั้น แทบจะเอาทุกวันถ้าลูกท้องเสีย ลูกท้องเสียปื๊ดป๊าดอยู่เรื่อย อึ ออกมาใส่ผ้านุ่งผ้าถือ เออ แต่ว่าเห็นเด็กสมัยใหม่เนี่ยมี เขาตัดกางเกงใส่ให้ลูกมีสำลีรองไว้อย่างดี แต่ก่อนนุ่งอยู่กับตัวเอง ติดตัวเองอยู่อย่างงั้นน่ะ เวลาอึออกมาแล้วทำยังไง หรือให้มันแห้งคาตัว ไม่ได้อีกแหละ ต้องไปซัก ไปฟอก ไปทำความสะอาด ตากให้แห้งซะก่อน แล้วก็รีดให้แห้งซะก่อน จึงเอามาใส่ให้ใหม่ มีตัวผลัดเปลี่ยนอยู่ ผ้าอ้อมสำหรับให้ลูกอึใส่ ฉี่ใส่ เปลี่ยนอยู่อย่างนั้นทุกวันๆ ถ้าลูกท้องเสียน้อย เป็นอย่างงั้น
เพราะฉะนั้น บุญคุณอันนี้เราจะลืมไม่ได้เลย มีติดตัวเราอยู่อย่างนั้น พ่อแม่ทำกับเราได้อย่างนั้น ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยว ให้เราได้นอนสบาย ถ้าไปนอนเปียกขี้ เปียกเยี่ยวตัวเอง แล้วมันจะเป็นยังไง น่าดูไหม ไม่สบายใจเลย ถ้าได้เอาผ้าใหม่ๆ
ผ้าซักมาใหม่ๆ ไม่แปดเปื้อนด้วยอึ ด้วยเยี่ยว ขี้ เยี่ยว ไม่เปื้อนแล้ว ซักให้สะอาดไว้เสมอๆ เป็นหน้าที่ของใคร หน้าที่ของพ่อของแม่ใช่หรือเปล่า หรือว่าพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเด็กให้ เอาเด็กมาเลี้ยง เอาคนใช้มาเลี้ยงเด็กเหล่านี้ พ่อแม่ไปทำงานทางอื่น พี่เลี้ยงเขาก็ดูแล อย่างไม่ให้แปดเปื้อนอะไรได้เหมือนกัน พี่เลี้ยงกับแม่ก็เหมือนเดียวกัน น่ะ
ไม่ควรดูหมิ่นถิ่นแคลน ควรจะเคารพ เคารพผู้ที่ฟูมฟักรักษาเรา เอาใจใส่เรา ท่านเหล่านั้นก็เหมือนพ่อเหมือนแม่เรา อ้า ให้เข้าใจอย่างงั้น อย่าไปดูถูก แกเป็นคนใช้ แกเป็นคนมาจากทางอื่น เราไม่ฟังหรอกอย่างงั้นอย่างงี้ ไม่ถูกต้องหรอก ต้องฟังคำของพี่เลี้ยงก็ดี ของแม่ก็ดี ของพ่อก็ดี ผู้มียายเลี้ยง อืม คำของยายก็ดี ผู้เอาใจใส่ก็คือยายนั่นแหละ ตัวของหลวงพ่อเองสมัยเป็นเด็ก ก็ยายเป็นผู้บ่มเลี้ยงเรา แม่ไปทำมาหากินทางอื่นโน้น ไปหาอาหารการกินในป่า เก็บเห็ดเก็บหาทางอื่น เราอยู่บ้านกับยาย ก็ยายบ่มเอาทั้งนั้นแหละ เลี้ยงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ถ้าร้องไห้มากจนเกินไป ยายก็เอานมเหี่ยวๆ มาให้ดูด หึ เฮอะ เอานมมาให้หลานดูด หึ เออ พอมันร้องเกินไปๆ มันจะหิวมาก ก็ไม่มีน้ำแหละ ดูดก็ดูดไม่มีน้ำ นั่นดูดไปกินน้ำลายเจ้าของไป อย่างงั้นล่ะอ่ะ นั่น เรียกว่าผู้รับผิดชอบในชีวิตของเรา ตั้งแต่ยายมา หาแม่ หาป้า หาผู้ใดผู้หนึ่ง ที่อยู่ใกล้ชิดติดต่อดูแลแทนให้ ท่านเหล่านั้นก็เหมือนดังแม่ของเรา เหมือนเป็นป้าของเรา เป็นพี่ของแม่ เออ ยายของเราก็เหมือนกัน เป็นหน้าที่ของยายที่จะดูแลใกล้ชิดติดต่อ ทุกวันเวลาแม่ไม่อยู่ ใครจะดูแลแทน ก็อีกยายล่ะสิ ตาก็ไม่ค่อยเห็นหนเท่าไหร่ แกดมไปๆ โอ้ มันอึ มันขี้เว้ย โอ้ มันเยี่ยวเว้ย อ้า ก็ยายดมซะก่อนล่ะ อืม เอาใจใส่ช่วยกันมาโดยตลอด นี่พระคุณเหล่านี้ เป็นผู้มีน้ำใจ มีเมตตาการุญ สงสาร ไม่ได้หาให้นอนจมกองขี้ กองเยี่ยว เท่าไหร่หรอก เพิ่นดูแล ฟูมฟักรักษา ให้สะอาดอล่องฉ่องเอาไว้ เออ ท่านเหล่านั้น เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา บิดามารดานั้นเป็นผู้รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด เอาใจใส่เป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่นอกกว่านั้นก็ยาย ผู้เป็นป้าบ้าง ผู้เป็นพี่ของแม่บ้าง อยู่ใกล้ๆ กันเขาก็ดูแลกันมาโดยตลอด ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีพระคุณ
มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา
อ้า อาจจะปล่อยไว้ตามดิน ตามหญ้าก็ไม่ได้อีกแหละ เออ เนี่ยเลี้ยงลูกแต่ละคน กี่คน โอ้ ดูแลตั้งแต่ฟูมฟักรักษาอย่างเอาใจใส่ พิถีพิถัน เวลามันอึ ก็ปล่อยให้มันเล่นอยู่ในนั้นก่อน แล้ว คลานอยู่ในนั้นก่อน โน้นล่ะแล้วจาก ตักน้ำ ตำข้าวเสร็จแล้วเรียบร้อย จึงไปล้างเอา อ้า ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้ ตัวของลูกๆ มอมแมมล้างซะก่อน ดีๆ ซะก่อน มีแป้ง มีอะไรก็มาทาให้ซะก่อน เกลี้ยงซะก่อน น่าอุ้ม น่ากอดซะก่อน อ้า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีเมตตาต่อเรา จึงว่าเป็นพระของเราเหมือนกัน
อาหุเนยยะ ปุคคะโล จะ
บุคคลเปรียบเหมือนพระอรหันต์ ก็คือผู้เลี้ยงดูอุ้มชูเรามา ไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย ไม่ใจจืด ใจดำกับเรา ฟูมฟักรักษา ให้สะอาดอล่องฉ่องเอาไว้ ถ้าเผอิญน่าอุ้ม น่ากอด อ้า ขึ้นขี่คอ ขี่ข้างกันได้เลย เพราะว่าสะอาด เออ ก็มีมันระลึกได้อยู่ เราระลึกได้ตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็ก แม่ไม่ได้อุ้มเท่าไหร่หรอก คนอื่นไม่ได้เท่าไหร่หรอก คนอื่นอุ้มไป อุ้มไปเที่ยว ไปเล่นที่อื่น ถ้ามันไปอึใส่เขาเวลานั้น จะเป็นยังไง เขาก็คงอาบน้ำให้ ซักฟอกเสื้อผ้าให้อย่างดีซะก่อน จึงเอามาส่งแม่ น่ะ ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ผู้มีเมตตา เอาใจใส่เราเหมือนพ่อเหมือนแม่เราเหมือนกัน เขารักเรา เขาจึงอุ้มเรา เขารักเรา เขาจึงต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้เรา เขาเมตตาเรานี่อย่างไม่ขี้เดียด(รังเกียจ) ไม่รังเกียจเลย ไม่รังเกียจ ไม่ขี้เดียด(รังเกียจ) ล่ะ ล้างให้เราได้สบาย แอ้ นั่นท่านเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา เพราะฉะนั้น พวกเราไม่ใช่เกิดมาแล้วโตมา ก็ใหญ่มา ช่วยตัวเองได้ทุกอย่างซะก่อน จึงจะปล่อยปละละเลย อึ ไปอึเป็น ไปฉี่เป็น อ้า รู้จักที่ถ่ายที่เถ่ยเป็นทุกอย่าง ให้โตซะก่อน ค่อยช่วยตัวเองได้ ทุกวันนี้มีห้องน้ำ ห้องส้วมทุกบ้าน มีห้องอาบน้ำทุกบ้าน เออ มีน้ำปะปามันไหลมา ถ้าฤดูหนาวก็เปิดเป็นน้ำอุ่นอาบให้ เปิดเป็นน้ำอุ่นอาบให้ลูก อาบให้หลาน อย่าเอาน้ำเย็นๆ ไปราดเขาเลยทีเดียว ประเดี๋ยวมันจะเกิดไข้ขึ้นมา ไม่ดีให้น้ำอุ่นพอจก(ล้วง)ได้ซะก่อน พอเด็กน้อยอาบได้ซะก่อน อ้า ทำน้ำให้อุ่นพอดีซะก่อนจึงมาอาบให้ เขาก็ไม่งอแง ไม่ร้องไห้หรอก ถูกน้ำอุ่นเข้า ดีอกดีใจนั่นล่ะ นี่มนุษย์ สังคมของมนุษย์ เขาเป็นอย่างนี้ทุกชาติ ทุกภาษา เอาใจใส่ ฟูมฟักรักษา เหมือนกันหมด ไม่ว่าคนประเทศไหนๆ เอาใจใส่ดูแลเด็กอ่อน นี้เป็นคุณธรรมพิเศษ จึงได้ใหญ่กล้าหน้าบาน ใหญ่โตขึ้นมา รู้จักเดียงสา ช่วยตัวเองได้จึงปล่อย เออ ปล่อยให้ช่วยตัวเอง ไม่ใช่เมินเฉย อยู่เฉยๆ เอาใจใส่พิเศษ
นี่พรรณนาไปถึงผู้มีพระคุณต่อเรามากมาย ตั้งแต่ปู่แต่ย่า แต่ตาแต่ยายมา ป้าลุงมา เออ เพิ่น มีแต่คนเอาใจใส่เราทั้งนั้น เอาไปนอนด้วยก็มี บางแห่งอยู่กับแม่กันหลายคน ป้าลุงเอาไปนอนด้วยโน้น บ้านหลังอื่นโน้น แต่ปานนั้นก็ยังห่วงอยู่ ไปนอนที่อื่นจะเป็นยังไง ริ้นกัด ยุงกินหรือเปล่า เออ ทำนองนี้ อืม นั่นล่ะความห่วงใยของผู้มีพระคุณ มีไปทั่วไป ใครๆ ก็มีแม่ มีน้า มีป้า มีลุง มีตา มียาย ผู้ดูแลรักษาเรามีไปหมด เพราะฉะนั้นเราโตมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มา ก็เพราะด้วยความฟูมฟักรักษาของท่านเหล่านั้นเอง เอาใจใส่เรา ได้กินอาหารอะไรดีๆ เพิ่นก็ยื่นใส่มือ ให้ใส่ปากให้กิน เออ เป็นปู เป็นปลา เป็นกบ เป็นเขียด แล้วบิดเคี้ยวใส่ปากแล้วก็มาป้อนเราอีกอย่างนี้ เรียกว่าเป็นคนเอาใจใส่กับเด็กๆ มากมาย เคยเลี้ยงกันมา พากันใหญ่มาเรื่อยๆ เพราะคนอื่นหรอกดูแลมา จึงได้โตมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมาได้
พอบวชเข้ามาแล้วมีล่ะเนี่ย ถ้าเราท้องเสียขึ้นมา มันปื๊ดปาด ไม่รู้เรื่องราว ว่าตดเฉยๆ หรอก ไม่เป็นไรหรอก แต่มันออกมา เฮอะๆ ทั้งน้ำ ทั้งต่อน(เนื้อ) ทั้งเนื้อมัน อืม อึออกมาใส่ผ้า ทำไงลูกศิษย์ก็กุลีกุจอจัดการให้ ล้างให้ครูบาอาจารย์ ไปซัก ไปฟอกอย่างดี ตากให้แห้งแล้ว ก็เอามารีด ด้วยเตารีดอย่างดีซะก่อน ให้แห้งไว้ อล่องฉ่องซะก่อน เวลาจะเปลี่ยนเสื้อผ้าอาภรณ์มา ก็เอาของแห้งแล้วน่ะ มาให้เรานุ่ง ก็นับว่าเป็นบุญคุณ มีผู้ห่ม ผู้ประคบประหงม ดูแล แทนแม่แทนพ่อเรา เอาลูกศิษย์เป็นที่พึ่งซะแล้วปะเนี่ย ที่หลับที่นอน เขาซักผ้าปูที่นอนให้ บางที่เราเยี่ยว เออ ฝันว่าได้เยี่ยวก็เบ่งอย่างแรง หึหึ มันก็ลามปามไปตามที่นอนน่ะ โอ้ ทั้งอึก็ดี ฉี่ก็ดี ก็ไปตามที่หลับที่นอนเรา โอ้ พอเห็นที่นอนเปื้อน ก็เป็นหน้าที่ของลูกศิษย์อีกแหละ ลูกศิษย์ดูแลอีก อย่างนี้เป็นต้น พูดถึงบุญคุณ เพราะฉะนั้นติดต่อกันไปหมด อืม
สมัยเราเป็นเด็ก เหล่าผู้ดูแลเราก็คือพี่สาว พี่สาวเป็นผู้ดูแล อาบน้ำให้ เช็ดขี้มูก เช็ดน้ำลายให้ เช็ดก้นให้ เวลาอึ เวลานั้นเช็คก้น เช็ดอะไรให้ อล่องฉ่องซะก่อนจึงเอาผ้าใหม่มาเปลี่ยน ให้นุ่งใหม่ นี่ถ้าพรรณนาไปเรื่องพระคุณของผู้อื่น ที่ประคบ ประหงมเรา ดูแลความสะอาดเรามา ตั้งแต่เป็นเด็กเป็นเล็กมา อืม อาบน้ำแล้ว ทำให้แล้วทาแป้งให้ด้วย แต่งตัวให้ด้วย ให้เช็ดหน้า เช็ดตาให้ทุกอย่าง ท่านเหล่านั้น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรา อย่าดูถูก อย่าดูหมิ่นถิ่นแคลน ให้เคารพนับถือ อ้า ผู้มีพระคุณอย่างนั้นเหมือนแม่เรา เหมือนพ่อเรา เหมือนป้าเรา เหมือนลุงเรา ท่านเหล่าก็นั้นล้วนแล้วเป็นผู้มีพระคุณต่อชีวิตของเรา รับผิดชอบเรามาโดยตลอด นี่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ และตอบแทนบุญคุณของท่านด้วยวิธีอย่างไรล่ะ ท่านเลี้ยงดูเรามาอย่างไร เรามีอะไรๆ ก็เอาไปฝากท่านบ้าง มีของอยู่ของกิน ไปตกเบ็ด ตกกั้งมา ได้ปู ได้ปลามา เอาไปส่งบ้าง อ้า เอาไปส่งผู้มีพระคุณต่อเรานั้นบ้าง เออ
บางรายก็น้ำตาซึมน่ะ เป็นน้องเอาของไปฝาก เอาปลาไปฝาก เอากบ เอาเขียดไปฝาก เอาอึ่ง เอาอ่างอะไรไปฝาก ไปฝากนี่เอามาให้ ให้ป้า ให้น้า ให้ใครผู้ดูแลเราน่ะ เอาไปให้ใส่ตีนใส่มือ ให้ได้อยู่ได้กิน น้ำตาซึม ถ้าได้รับความตอบแทนบุญคุณอย่างงั้นน้ำตาซึม ยายเราก็เหมือนกัน ป้าเราก็เหมือนกัน เออ น้าสาว น้าชาย ก็เหมือนกันเราตอบแทนบุญคุณของท่าน ด้วยสิ่งของอยู่ของกินเหล่านี้ ได้ปู ได้ปลามา ก็อย่าลืมบุญคุณของท่าน เออ เอาไปให้ ให้ไปทำกินเอง อ้า ไม่ได้ฆ่าให้มันตายแล้ว เขาไป ไปเขื่อง(รังปลาดุก)ให้ ดังนี้
เราก็เคยกระทำมา สมัยเราเป็นหนุ่ม ได้สิ่งได้ของบางอย่าง น่ากินน่าอยู่ ก็นึกถึงป้า นึกถึงน้า นึกถึงลุง ผู้เลี้ยงดูอุ้มชูเรามา เออ นี่ ต้องตอบแทนเพิ่น อืม เพราะ เพราะลุงคนหนึ่ง พี่ชายแม่ พี่ชายใหญ่ของแม่ อยู่บ้านสาวะถีโน้นหรอก เราไปอยู่ด้วย เราได้ดูแลท่านเหมือนกัน ทำอาหารการกินให้กิน เออ แม่ของเขานั้นกำลังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ ตัวของเราก็เป็นหนุ่มเป็น เป็นบ่าว (ชายหนุ่ม)ขึ้นมาแล้ว เป็นหนุ่มแล้ว ทำอาหารกินเป็นแล้ว ทำลาบ ทำก้อย ทำต้ม ทำแกง เป็นหมดทุกอย่าง ทำแทนได้ เออ ไปอยู่กับลุง ลุงก็ให้ ไปให้ไปเข้าโรงเรียนที่บ้านสาวะถีนู้น โรงเรียนบ้านเรา ยังไม่ได้มีโรงเรียนกับเขาเลย ต้องไปเรียนหนังสือที่บ้าน... โอ้ อ่ะ อันนี้ก็น่าตื้นตันน้ำใจ อ้า ผู้ที่เพิ่นเลี้ยงดูอุ้มชูเรามาน่ะ ตักน้ำ ตำข้าว ก็เป็นหน้าที่ของเราอีกนั่นแหละ ตักน้ำ ตําข้าวกระเดื่องอะไรเนี่ย เราทำเป็นทุกอย่างอ่ะ ทำได้ทุกอย่าง ให้ตักน้ำมาใส่โอ่ง ใส่อะไรเหล่านี้ ก็เป็นหน้าที่ของเรา เออ ทำได้ ไม่ให้ลำบากเลย เพราะลุงขาไม่ค่อยดีหรอก แตแป๊ะ เดินไปเดินมา แตแป๊ะๆ ไป ชักเขย่งๆ ไป ขาไม่ดี เราก็ดูแลท่าน ในที่สุด เวลาท่านแก่เฒ่ามาแล้วท่านป่วยหนัก ก็มาตายอยู่ที่บ้านของเราเองนี่ว่ะ เออ ประคบประหงมท่านอีก ต่อไปอีกอยู่อย่างงั้นน่ะ เออ ไม่ได้ทอดทิ้งนิ่งดูดายหรอก เป็นหน้าที่ของเรา ซักเสื้อซักผ้า ที่หลับที่นอนให้ทุกอย่าง เออ นั่นลุง ผู้มีพระคุณต่อเรามาก ลุงใหญ่ พี่ชายใหญ่ของแม่ มีจันทรา ศิลา แม่ป้าโรย แม่ป้าบัวลา แม่ป้าตา แม่ป้าทา ออง มีหลายนับไม่ถ้วนเหมือนกันแหละลูก ล้วนแล้วแต่ผู้ได้ผ่านให้ความอุปถัมภ์บำรุงเรามาโดยตลอด
เราบวชเข้ามาก็ระลึกถึงใคร ระลึกถึงผู้มีพระคุณทั้งหลาย
เหล่านั้น ไม่ได้ใจจืด ใจดำหรอก คิดถึงท่านผู้มีบุญคุณต่อเรา ได้เลี้ยงดูอุ้มชูเรามา ต๋บ(ซัก)ผ่า(ผ้า)ขี้ ตี่(แยก)ผ่า(ผ้า)เยี่ยวให้เราก็มี นั่น เพราะท่านเหล่านั้นก็เหมือนเทวดา รักษาเรามา ฟูมฟักรักษาเรามาโดยตลอด เอาใจใส่เป็นพิเศษ แม้ท่านตายแล้วก็ทำบุญให้ทานให้ท่าน เออ นำไปเผาให้เรียบร้อยทุกคนแหละ อยู่ในความรับผิดชอบของเราทั้งนั้น อยู่ในตระกูลท่าน เป็นหน้าที่ของเราทั้งนั้น อย่าทอดทิ้ง อย่านิ่งดูดาย ใครๆ ก็มีญาติพี่น้อง มีพ่อ มีแม่ มีน้า มีป้า มีลุง มีทุกคนน่ะ มีเหมือนกันหมดทุกคนล่ะ ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่มีความรัก มีความเมตตาเราทั้งนั้น เออ ไม่ใจจืด ใจดำ มีอะไรอาหารการกิน เอาใส่ตีนใส่มือให้เรากินได้ อืม เวลาต่อมาเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือเป็นบ่าวขึ้นมาแล้ว ไปเก็บส่อน(สวิง) ไปหย่อนแห ไปหากบ หอย เขียดที่ไหน ได้ของมา ก็เอาไปส่ง เออ หรือแกงให้สุกซะก่อน ทำให้ดีซะก่อน แล้วจึงเอาไปส่ง เออ ใส่ปิ่นโต ใส่ถ้วย ใส่จานเอาไปส่งให้ นี่ เขาเรียกว่าเอาใจใส่ช่วยญาติ สงเคราะห์ญาติเหมือนกัน แอ้ ผู้ใดมีบุญคุณต่อเรา ถือว่าท่านผู้นั้นเป็นญาติของเรา อย่าไปใจจืด ใจดำกับผู้อื่นเขา ผู้อื่นที่ไหนก็ดี จะเป็นญาติ ไม่ใช่เป็นญาติก็ตาม ผู้ใดเอาใจใส่ดูแลเรามา เราระลึกนึกถึงอยู่เสมอๆ เออ ดังนี้เป็นตัวอย่างของมนุษย์ สังคมมนุษย์ ไม่ใช่ใจจืด ใจดำ ไม่ใช่พี่เราหรอก ไม่ใช่น้องเราหรอก ไม่ใช่ญาติของเราหรอก แล้วจะไปเอาใจใส่ทำไม อะไรทำนองนี้
ในที่สุดแม้บวชเข้ามาขนาดนี้ ได้แล้ว ๘๐ กว่าปีมาแล้ว อ้า บวชเข้ามาได้ ๖ ได้ ๗ ก็ยังเป็นห่วงญาติโยม ผู้ให้ความอุปการะแก่เรา มีหลายท่านหลายคน ฟ้าว(รีบ)มาจังหันขันหมากเรา กลัวจะไม่ได้อยู่ได้กิน เรากินไปสักนิดสักหน่อย ฉันไปสักนิดสักหน่อย พออิ่มแล้ว แล้วก็กินน้ำ ล้างมือ แล้วนอกนั้นก็ยกให้เขาไป อาหารนี่ยกให้เขาไป ให้เขาไปดูแลกันเอง อ้า นั่นก็เป็นมาอย่างงั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ใจจืด ใจดำกับญาติ กับโยมหรอก เป็นห่วงญาติ ห่วงโยม ผู้ให้อุปการะแก่เรา เหมือนพ่อเหมือนแม่ เหมือนญาติของเราเหมือนกัน มีความหิวเหมือนกัน อ้า
บางคนก็บังคับให้กินเนาะ(นะ) อ้า กินๆๆ อันนี้อร่อยๆ กินหน่อยๆ กินสักนิดสักหน่อย ผมกินมาแล้ว อิ่มมาแล้วอย่างงั้นหรอก กิน อันนี้เอาใหม่ซะก่อนมันอร่อย อันนี้อร่อยนะ อ้า ต้องแพงไว้ ตัวใหญ่ๆ ปลาหรือว่า ปลาพู้น(โน้น)ล่ะ ปลาหิมะ ปลาอะไรตัวใหญ่ๆ น่ะเขาทอดมาให้ เขานึงมาให้ โอ้โฮ ของอย่างนี้ก็ควรให้ญาติ ให้โยม ได้ลิ้มดู ได้ชิมดูหน่อยอ่ะ เรากินไปเนี่ย นิดหน่อยเราก็อิ่มแล้ว นอกนั้นก็ยกไปให้ญาติ ให้โยมซะ อ้า โยมผู้อุปถัมภ์(อุ)ปัฏฐากเรามี เคยให้ข้าว ให้น้ำแก่เรา ให้เครื่องใช้ไม้สอยแก่เรา มากมายก่ายเกิน เรียกว่าแม่ออกทั้งหลาย หรือญาติโยม โยมผู้หญิงทั้งหลายก็ดี โยมผู้ชายทั้งหลายก็ดี เป็นพ่อเป็นแม่เราทั้งนั้นแหละ เรียกว่า คำแทน เรียกว่าพ่อออก แม่ออก อ่ะ โยมผู้ชาย โยมผู้หญิงก็ตาม พอเป็นน้าเราก็มี พอเป็นพี่เราก็มี พอเป็นน้องเรานี่หลายอยู่ อ้า เขาก็เป็นห่วงเรา มีอะไรกินดีๆ เขาก็อยากให้เราได้กิน เขาก็หามาจากไหนว่ะเนี่ย คงไม่ได้ฆ่าปู ฆ่าปลาหรอก เพราะว่าตลาดมันไม่อดอะไร อยู่ในเมือง ในนา ไม่อดอะไร เขาหามาได้ หาเนื้อ หาปลา หาอาหารการกิน ทั้งหลายเอามาให้ กลัวหลวงปู่ ฉันมื้อเดียว กลัวหลวงปู่ อดๆ อยากๆ จะลำบาก พากันมาเป็นพรวนจนไม่มีที่นั่ง ที่โรงพยาบาลเนี่ย มากันเป็นพรวนมา ปิ่นโตบ้าง หม้อแกงบ้าง มีอะไรทุกอย่างมา นี่ก็ด้วยความห่วงใยเหมือนพี่เหมือนน้องเราเหมือนกัน อุปการะแก่เรา ให้ไม่อดไม่อยากอะไร ได้อยู่ได้กิน ได้รับความสะดวกสบาย มีชีวิตรอดปลอดภัยมา อ้า เท่าทุกวันนี้ล่ะ ไปอยู่จังหวัดไหนก็เหมือนกัน ไปอยู่จังหวัดเลยก็นึกว่าจะตายอยู่ที่เมืองเลยพู้น(โน้น)ล่ะ อันนั้นก็เหมือนกัน เขารู้จักไปถึงไหน เขาก็ไหลกันมา เฮกันมา มาจังหัน มาขันหมาก อยู่บ้านอื่น เมืองอื่น ก็ต้องพยายามนั่งรถนั่งเรือมาส่งถึงวัด อย่างนี้ก็มี อืม จำนวนมาก
อยู่ปากชม ก็ยังอุตส่าห์นั่งรถมาจังหันขันหมากหลวงปู่ อยู่วังสะพุง อยู่เมืองเลย ก็อุตส่าห์นั่งรถนั่งเรือมาจนถึงวัด อืม อยากให้หลวงปู่ได้อยู่ได้กิน เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ให้ความเมตตาปรานีต่อเรา ไม่ลืมบุญคุณกันหรอก
เพราะฉะนั้น จึงขอให้พรท่านเหล่านั้น ด้วยหัวใจ ขอให้ท่านเหล่านั้นมีความสุขความเจริญเด้อ
(สาธุ)
อยู่ในที่นี่ ก็ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงไม่น้อยเหมือนกัน ให้ได้อยู่ได้กิน อะไรอร่อยๆ เขาก็อยากให้เรา อุตส่าห์มา เฮอะๆ ตัดจากปากลูกปากเต้าตัวเอง เอามาฝากหลวงพ่อ อันนี้ของ อร่อยๆ ให้หลวงพ่อได้ฉันบ้าง อะไรทำนองนี้ แหม น้ำใจอันไหนก็เหลือเกิน มีศรัทธาแรงกล้า สามารถนำมาส่งด้วยฝีแข้งของตัวเอง หรือนั่งรถนั่งเรือมาส่ง จนถึงที่พักของหลวงปู่ อยู่ที่ไหนก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พวกเราจึงมีหนี้บุญหนี้คุณกันทุกฝ่าย เป็นห่วงเป็นใยหลวงปู่เหมือนกัน เออ อยากให้หลวงปู่ได้อยู่ได้กินของดีๆ อย่างนี้ เขาก็ว่ากันไปแหละ เฮอะๆ เออ ดีๆ ชอบใจๆ อันนี้ชอบใจ ก็ไม่ ไม่ปฏิเสธหรอก ดีทั้งนั้นแหละ วันไหนมันหิวๆ ก็เขมือบเอาซะจนท้องบาน ท้องกางไปเลย หึหึ อ้า อันนี้บุญคุณของญาติของโยม ก็มากมายก่ายเกิน พะเนินเทินทึก อยู่ในกรุงเทพฯ มันหลายฝ่าย หลายจังหวัด รวมกันมาเนี่ย มาหลายจังหวัดอยู่ มาฮอด(ถึง)จังหวัดโน้นก็มา มา ดูแลความสะดวกสบายของหลวงปู่ อยู่จังหวัดอะไร สุพรรณฯ สุเพินที่ไหนพู้น(โน้น)นู้น ก็ยังมา นั่งรถมา มาจอดรถไว้ที่โรงพยาบาลแล้วก็ ตามหลวงปู่มาที่นี่อีก ก็ขอบน้ำใจไมตรีจิตมิตรภาพเหล่านั้น ไม่ลืมบุญคุณกันหรอก ผู้ใดให้ความอุปถัมภ์บำรุงก็เหมือนพ่อเหมือนแม่ ภาษาโบราณเรียกว่า พ่อออก แม่ออก เออ พ่อออก
แม่ออก ที่ค้ำแพกแบกหาม หาม ให้ความสะดวกสบายทุกอย่าง อืม ตั้งแต่อาหารการกิน น้ำทุกอย่าง น้ำปานะน้ำปาเนอะ ทุกอย่าง (มะ)ขามป้อม สมอ ก็ไหลมาจากต่างจังหวัดก็มี อ้า เอามาส่ง ให้หลวงปู่ได้มีชีวิตรอดปลอดภัยมา ได้มาฝอยให้ฟังอยู่นี่ เพราะว่ากำลังมี ไม่เหนื่อย ก็ได้รับประทานอาหาร หรือเครื่องอยู่เครื่องกินของญาติของโยมให้ ก็พอจะพูดให้ฟังได้อยู่มากมายก่ายเกิน พรรณนาไปไม่สิ้นไม่จบหรอก ไม่ลืมบุญคุณหรอก
เพราะฉะนั้น จึงขออำนวยอวยพรให้ทุกคน ผู้ที่ให้ความ อุปการะ ดูแล เออ ไม่ให้หิวโหยโรยแรง ไม่ให้เมื่อย ให้มีกำลังวังชา ให้หลวงปู่มีอายุมั่นขวัญยืน มีพลานามัย แข็งแรง สุขกาย สุขใจ อ้า อ่ะ
พรอันนี้ขอให้เป็นของทุกท่าน
ทุกคนที่ให้ความอุปการะ ไม่ลืมบุญคุณหรอก
ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน อายุนั้นขอให้อยู่ยืนมั่นสถาพร ร้อยปีอย่ามีหย่อน ได้เหมือนกลอนพรรณนา ขอให้มีผิวกายพรรณไลงาม รจนาผ่องใสวิไลตา พิศโสภาน่าชมเชย ไม่ต้องเปลืองเครื่องสำอางใดๆ เลย
(สาธุ สาธุ)
ขอให้มีความสุข นิราศทุกข์ นิราศโศก นิราศโรค นิราศภัย แสนสะเบยๆ สิ่งใดที่ได้เคยแม้เป็นอดีตและปัจจุบัน สิ่งนั้นก็อย่าละเลยเลวเสื่อมทราม ขอให้มีกำลังอนันตังมหาศาลมากเหลือหลาย กำลังกาย กำลังใจ กำลังภายใน กำลังภายนอก กำลังทรัพย์อันนี้สำคัญน่ะ และกำลังสติปัญญาสามารถอาจหาญ รู้เท่าทันเหตุการณ์ ในที่สุดขอให้ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วย
(สาธุ)
เห็นอะไร เห็นธรรม เห็นทุกขัง เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา
ให้มันชัดแจ้งขึ้นมาในใจ ให้มีความกระตือรือร้นในการ กระทำรักษาศีล กินทาน ภาวนาสืบไปอีกนานเท่านานด้วยเทอญ
(สาธุ สาธุ สาธุ)
มันลงด้วยวิธีอย่างนี้ มันลงด้วยวิธีอย่างนี้
ขอให้ท่านผู้ใหญ่รับความ... ให้ความอุปถัมภ์บำรุงมา ตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เจอกันมา คุณยายหนึ่งแก่ขนาดนั้น ยังอุตส่าห์มา อายุ ๘๐ ๙๐ ปีแล้วมั้ง คุณยายหนึ่ง อาม่าหนึ่ง อาม่าไม่ใช่ธรรมดานะ ให้ลูกหลานพามา ใส่รถมาอย่างนี้ก็มี แอ้ เสียใจ ได้พูดได้มานี่ ได้ฟังมามันเป็น ปกิณณกนัย หลายสิ่งหลายอย่างด้วยกันจะพรรณนาไปเท่าไหร่ ไม่สิ้นไม่สุด อ้า มีบุญคุณต่อกันทั้งนั้นล่ะพวกเรา
ขอให้รักษาชีวิตและสุขภาพร่างกายไวัให้แข็งแรง
อาตมาจะได้พึ่งพาอาศัยไปอีกนาน เท่านาน เฮอะๆๆ
(สาธุ สาธุ)
ด้วยประการฉะนี้
(สาธุ สาธุ สาธุ)
เหนื่อยแล้วๆๆๆ
มังคะละสูตร (มงคล ๓๘)
ปูชา จะ ปูชะนียานัง
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
การบำรุงมารดาและบิดา ๑
ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
การสงเคราะห์บุตร ๑ ภรรยา ๑
อะนากุลา จะ กัมมันตา
การงานเรียบร้อยไม่คั่งค้าง ๑
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
นี้เป็นอุดมมงคล
พ๎รัห๎มาติ มาตาปิตะโร
มารดาบิดาท่านว่าเป็นพรหม
อาหุเนยยะ ปุคคะโล จะ
บุคคลควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เทวทูตวรรคที่ ๔
พรหมสูตร ข้อ ๔๗๐
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายสกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีพรหม
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีบุพพาจารย์
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน
สกุลนั้นมีอาหุไนยยบุคคล
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้
เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุพพาจารย์นี้
เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยยบุคคลนี้
เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาและบิดามีอุปการะมาก
บำรุงเลี้ยงดู แสดงโลกนี้(สั่งสอน)แก่บุตร ฯ
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม
บุพพาจารย์ และอาหุไนยยบุคคลของบุตร
เพราะเหตุนั้นแหละ บุตรผู้มีปัญญาพึงนอบน้อมและ
สักการะมารดาบิดา ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
เครื่องหอม การอาบน้ำและการล้างเท้าทั้งสอง
เพราะการบำรุงมารดาบิดานั้น
บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุตรนั้น
บุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ
(จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
เทวทูตวรรคที่ ๔ พรหมสูตร ข้อ ๔๗๐)
พรหมวิหาร ๔ (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ)
เมตตา(ปรารถนาดี ให้มีสุข) กรุณา(สงสาร ให้พ้นทุกข์)
มุทิตา(ยินดี เมื่อผู้อื่นมีสุข) อุเบกขา(วางใจ เป็นกลาง)
ธรรมนิยาม
ทุกขัง ความเป็นทุกข์
อะนิจจัง ความเป็นของไม่เที่ยง
อะนัตตา ความเป็นของไมใช่ตน
เวนิสวาณิช(The Merchant of Venice)
ของ วิลเลียม เชกสเปียร์(William Shakespeare)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็น กลอน ๘ บทละคร พ.ศ. ๒๔๕๙
The quality of mercy is not strained.
อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
It droppeth as the gentle rain from heaven
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
Upon the place beneath. It is twice blest:
จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้น พลันปลื้มใจ
It blesseth him that gives and him that takes.
แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
‘Tis mightiest in the mightiest; it becomes
The thronèd monarch better than his crown.
His scepter shows the force of temporal power,
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น
The attribute to awe and majesty
เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
๕๗